28 ธันวาคม 2553

ความสุขแท้...แก้ที่ใจ

พวกเราตั้ง "ปุจฉา"กับชีวิตไว้จนฟุ้ง เกิดมาทำไม ความสุขอยู่หนใด ต่อจากนี้เราจะได้ "วิสัจนา" กับพระอาจารย์สุมโน ภิกขุ

พวกเราตั้ง "ปุจฉา" กับชีวิตไว้จนฟุ้ง บ้างถามเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน ความสุขอยู่หนใด ...ณ เวลานี้ เราจะได้ "วิสัจนา" กับพระอาจารย์ฝรั่งวัย 74 พรรษา ผู้มีใบหน้าเปี่ยมล้นด้วยเมตตาพร้อมไขปริศนาธรรม...

นับตั้งแต่พระฝรั่งท่านนี้ เริ่มเผยแพร่แนวทางธรรมผ่านตัวอักษร เอ บี ซี มาตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษ พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ หนึ่งในศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ได้รับการกล่าวขานว่ามีลูกศิษย์ลูกหาชาวไทย คอยติดตามไปทุกหนแห่งเพื่อหวังจะได้ฟังข้อคิดหลักธรรมอยู่เนื่องๆ

บุคลิกของท่าน มักไม่ค่อยชอบเผยตัวสักเท่าไร นานๆ ครั้ง ท่านจะสละความสันโดษ และสงบเงียบที่ถ้ำสองตา สถานที่พำนักประจำในเขตพื้นที่เขาใหญ่ ทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือออกมาบรรยายธรรมและพูดคุยวิถีการเจริญสติ เพื่อจะเป็นแนวทางบำบัดฟื้นฟูจิตใจ ให้เกิดความรื่นรมย์ และผ่องแผ้วรับปีกระต่ายเริงร่า

โอกาสดีๆ ส่งท้ายปีเสือเช่นนี้ บรรดาผู้มีจิตศรัทธาต่างก็พูดว่า อย่าปล่อยให้คำว่า "ธรรมะเป็นเรื่องของพระ" แต่ให้เปิดประตูใจใช้ธรรมนำหนทางไปสู่ความดับทุกข์ปุถุชน เพื่อก้าวสู่ปี 2554 อย่างเปี่ยมสุข

"การเข้าถึงธรรมไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่พวกเราจะจริงจังตั้งใจกับมันแค่ไหนเท่านั้น อย่างอาตมาเอง หลังจบการศึกษาด้านกฎหมายและออกมาประกอบกิจการส่วนตัวด้านการค้าขายอสังหาริมทรัพย์ เคยใช้ชีวิตที่สุขสบาย เป็นเศรษฐีชิคาโก มีทุกสิ่ง ได้ทุกอย่าง แต่วันหนึ่ง นั่งเฉยๆ แล้วคิดว่าทำไมไม่มีความสุขเลย จะเรียกว่า อกหักกับชีวิตก็ได้นะ (หัวเราะ) นั่นแหละจุดเริ่มต้นการเดินทางเส้นใหม่ของอาตมา"

ก่อนที่ท่านจะสละทิ้งวัตถุแห่งกิเลสทั้งหลายในวัยหนุ่ม (35 ปี) แล้วเลือกศึกษาวิถีพุทธในประเทศอังกฤษในช่วงแรกนั้น ท่านเคยเป็นฆราวาสที่โปรดปรานหนังสือเกี่ยวกับภาวะทางจิต สมาธิ และการปรับปรุงตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามที่ค้างคาใจมาตลอดได้ว่า "ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขที่แท้จริง?"

ครั้นพอได้แสวงหาคำตอบจากหลายๆ นิกาย ลองมาใช้ชีวิตผู้ปฏิบัติธรรมเคร่งครัด และถูกบททดสอบอันหนักหน่วงจากครูอุปัชฌาย์อาจารย์

จากความไม่เชื่อ แต่สนใจใคร่รู้ จนได้ลองรักษาศีลแล้วเห็นว่ามีประโยชน์จริง ที่สุดแล้ว ธรรมะ นั่นเองที่เป็นคำตอบของชีวิต และความสุขที่แท้จริงนั้นมาจากการปล่อยวาง ท่านจึงทำให้มันเป็น "เข็มทิศนำทาง" แล้วยึดถือไว้กว่า 30 ปีแล้ว

จากนั้นได้ตกลงปลงใจเดินทางมาบวชที่วัดหนองป่าพง อ. วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อหันเหสู่เส้นทางจิตวิญญาณ หวังจะศึกษาธรรมใต้ร่มกาสาวพัตร์ให้แตกฉานและขั้นสูงขึ้นไปอีก

ภารกิจระหว่างเดินทางเพื่อไปสู่จุดสูงสุดนั้น พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ บอกว่า จะเดินขึ้นเขา เราต้องรดน้ำต้นไม้ข้างๆ ทางให้งดงามด้วย นั่นแปลว่าต้องเผยแพร่สิ่งที่รู้ ไปสู่สาธารณชนคนที่ใจยังมืดบอดอยู่

ผลงานหนังสือของท่านมีทั้งที่เขียนขึ้นเอง อย่าง Questions from the city, Answer from the Forest ; Monk in the Mountain ซึ่งได้รับการแปลเป็นไทยในชื่อ ธรรมะจากพระภูเขา หรือ The Brightened Mind มีชื่อไทยว่า จิตที่สว่างไสว กับผลงานแปลจากเทศนาธรรมของพระอาจารย์ธุดงค์ผู้ยิ่งใหญ่ อย่าง พระอาจารย์ชา พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี และพระอาจารย์พุธ ฐานิโย เป็นต้น

ล่าสุด กับหนังสือ พบลิงที่ครึ่งทาง ( Meeting The Monkey Halfway) ซึ่งเน้นวิธีการพัฒนาจิตด้วยตนเอง พร้อมจะนำจิตวิญญาณไปสู่อิสรภาพเหนือการพึ่งพาสิ่งอื่นใด

ทำ "ใจ" ไม่ให้ "สุดโต่ง"
คำสอนอันงดงามและมีคุณค่าให้สังคม ย่อมเหมาะกับช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังค้นหาคำตอบให้กับชีวิตในขณะนี้ แต่คำสอนที่ว่านั้น ต้องทะลุเข้าไปในใจ และตอบคำถามได้ตรงจุด ด้วยภาษาที่เรียบง่าย คมคาย แต่ลึกซึ้ง

พระที่เคร่งในพระวินัยอย่างแรงกล้า เล่าถึงเหตุผลที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาว่า ได้ตระหนักถึงกลไกการทำงานอันร้ายกาจของจิตที่ซนเหมือนลิง มีลักษณะไม่อยู่นิ่ง ไม่เชื่อฟัง ผันแปร และเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เป็นความสับสนวุ่นวายในจิตใจ ที่คอยแต่จะสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับชีวิตทุกครั้งที่มีโอกาส มันจะจู่โจมเราโดยไม่รู้ตัว

ครั้นจะคุมตัวเข้ากรงขังไว้เสีย หรือปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรมเช่นนั้น ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ รังแต่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นเราต้องทำให้มันอยู่บนทางสายกลาง หรือครึ่งทาง แล้วนำมาเป็นอุบายอันชาญฉลาดในการบริหารจิต ที่ไม่ตึง แข็งกระด้าง หรือหย่อนยานจนเกินไป ตั้งอยู่บนหลักการของความสมดุลเป็นกลาง

ทั้งนี้ เราจะเห็นหัวใจของเรา และพบทางที่อยู่ตรงกลางได้ ก็ต่อเมื่อเรามีความอุตสาหะที่จะบรรลุเป้าหมายในการทำจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สงบได้ยาก ให้เกิดความตั้งมั่นและเป็นกลาง และด้วยความพยายามมุ่งมั่น ประกอบกับความพากเพียร ซื่อตรงและปัญญา ก็จะทำให้เข้าถึงการเจริญในธรรมที่นำไปสู่หนทางอันถูกต้อง

หลังจากรู้หลักการและที่มาของปัญหานานาในโลกใบนี้ว่า ทุกปัญหาล้วนเกิดจาก "จิตฟุ้งซ่าน" ของมนุษย์

ขณะเดียวกันเหล่าสัตว์ประเสริฐทั้งหลายกลับไม่รู้จักการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่เคยพอใจสิ่งใดๆ ไม่เคยเติมเต็มตัวเองสักที แล้วก็หาความสุขจากภายนอก วนเวียนอยู่ในความยึดมั่นสรรพสิ่งทั้งปวง หรือ ขันธ์ 5 (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์) และการรับรู้และตอบสนอง หรือ อาตยนะ 6 ทั้งภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ และภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธัมมารมณ์

"วงจรชีวิตเดินตามครรลองของมันอยู่แล้ว แต่บางคนพยายามหาความสุขที่มากกว่าทั่วไป บ้างเที่ยว หรือทำงานเพื่อเอาเงินมาซื้อความสุขทางวัตถุอื่นๆ มันเป็นภาพลวงตาของความสุข เพราะเราจะตั้งความหวังใหม่ไปเรื่อยๆ" พระอาจารย์ยกตัวอย่าง และอธิบายในอีกมุมหนึ่งว่า

หรือบางคนก็รู้หลักหลุดพ้นจากการยึดมั่นและรับรู้ แต่เลือกวิธีปฏิบัติสุดโต่ง ฝืนธรรมชาติของชีวิต เราจึงไม่พ้นทางดับทุกข์ ไม่สามารถควานหาความสุขที่จริงแท้ได้สักที และที่สำคัญที่สุดคือ พวกเราไม่เคยวกกลับตามหาความสุขที่อยู่ในใจเลยสักครั้ง

ค้นพบแล้ว สละทิ้ง
พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ จึงเผยแนวทางการปฏิบัติเริ่มแรกให้ใช้วิธี "B-ME" ทั้งที่แปลว่า จงเป็นตัวของตัวเอง และเป็นตัวย่อของให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของทุกสรรพสิ่ง คือ Begin (มีจุดเริ่มต้น) , Middle (ดำเนินมาได้ครึ่งทาง) และ End (แล้วเดี๋ยวก็จบ) ว่ามันจะหมุนเวียนกันไปอย่างนี้ไม่มีสิ้นสุด

ท่านยังเพิ่มเติมข้อธรรมหลากหลายอันงดงาม และมีคุณค่าเปี่ยมด้วยพลังแห่งการให้กำเนิดชีวิตใหม่ เพื่อให้เราหันกลับมาดูตัวเอง แก้ไขตัวตนให้สมบูรณ์ และเมื่อเราเป็นสัตว์สังคม เราก็จำเป็นต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นให้ถูกต้อง อย่างการให้อภัย ซึ่งเป็นปัญญาธรรมว่าด้วยความรัก เมตตา ซึ่งพวกเราหลงลืมและละเลยไปแล้วในยุคสมัยนี้

ส่วนอีกหลักธรรมคำสอนที่ถือว่าเป็นจุดไคลแมกซ์ นั่นคือ วิธีการเจริญภาวนาที่พระอาจารย์เรียกว่า การคลายออก ซึ่งตรงข้ามกับการสั่งสม เป็นการปล่อยวาง อันจะนำไปสู่ความสุขสงบที่มนุษย์เราต่างแสวงหามาตลอดชีวิต

พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ อธิบายต่อว่า เราต้องมีศีลเป็นพื้นฐานเพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเสียก่อน แล้วใช้สมาธิเพื่อทำให้เกิดพลัง จากนั้นให้มองความสุขที่แท้จากการมองไปรอบๆ จะเห็นความงามของดอกไม้เป็นสิ่งชั่วคราว ประเดี๋ยวก็จะเห็นความเสื่อม แล้วจะพบว่าที่ใจเราทุกข์เพราะเรายึดติดกับกาย ความจริงแล้วธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นของมันอยู่แล้ว

"เราต่างหากที่ประดิษฐ์จิต สมมุติมันขึ้นมา เราต้องมีสติ สนใจปัจจุบัน และรู้ว่าทุกสิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วจะผ่านไป เราต้องมองความเป็นจริง ว่าทุกอย่างมักเป็นอย่างนี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"

พระอาจารย์นักเขียน สรุปให้ฟังว่า ฝึกการเจริญภาวนานั้นให้เจริญสติเสมอว่า เดี๋ยวก็ดับไป ระลึกไว้ทุกขณะ อาจเริ่มทำเช้า-เย็นก่อนก็ได้ หรือระหว่างเดินจงกลม ไม่นานเราก็จะไม่ยึดติด

การนำเสนอทัศนคติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงมีต่อโลกนี้ เป็นการสอนวิธีเยียวยาจิตในลักษณะเดียวกับการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยและทุพพลภาพของร่างกาย มันจึงเป็นหนทางเพื่อการเจริญเติบโตแห่งจิตวิญญาณ และเป็นเครื่องมือฟื้นฟูจิตใจให้เกิดความรื่นรมย์ ผ่องแผ้ว ส่องประกายด้วยความสงบสุข เป็นสภาวะที่จิตใจได้กลับคืนสู่บ้านที่แท้จริง

ท่านทิ้งท้ายสำหรับผู้มีกิเลสหนา กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จไว้ว่า แค่คิดว่าอยากจะพ้นทุกข์ ยิ่งมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเกิดพลังมากขึ้นเท่านั้น คุณภาพชีวิตคนเราอยู่ที่ปัญญาของเรา ต้องเจริญในทางปัญญา ซึ่งจำเป็นต้องฝึกฝน เพราะการสร้างปฏิบัติธรรมก็เหมือนการปลูกต้นไม้ สภาวะเกิดปัญญาได้รวดเร็วต้องมีปัจจัยที่ดี และต้องโน้มน้าวจิตเราไปในทางธรรมเสมอ

แล้วแสงสว่างแห่งความสุขก็จะเปล่งประกายออกมา รับชีวิตใหม่ที่พ้นห้วงทุกข์อย่างแท้จริง

from http://bit.ly/efdrNy


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)