17 ธันวาคม 2553

เจ้ามือป๊อกเด้ง

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


เมื่อผมเข้ามาอยู่ในแวดวงของการลงทุนเต็มตัว บ่อยครั้งผมคิดถึงประสบการณ์เก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเล่น เกม "พนัน"

ที่ผมเคยทำมา ส่วนใหญ่แล้ว เกม "พนัน" ที่ว่า มักจะเป็นเกมเดิมพันของ "ชีวิต" มากกว่าจะเป็นเรื่องของเงินทอง

ในบางครั้งผมก็เล่น "พนัน" เป็นเงินบ้าง และทุกครั้งก็เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน หนึ่งในการเล่นพนันที่ผมเคยทำ ก็คือ การเป็น "เจ้ามือป๊อกเด้ง" และต่อไปนี้ คือ ประสบการณ์ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้น

ในการเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งนั้น สิ่งที่ผมพบ ก็คือ ผมอาจจะได้เปรียบลูกมือเล็กน้อยในแง่ที่ผมสามารถเลือกที่จะ "จับ" หรือเปิดไพ่ของลูกมือก่อนโดยเฉพาะคนที่ "จั่ว" ไพ่ไปหลายใบและมีโอกาส "ตาย" ซึ่งจะทำให้ผมชนะหรือ "กิน" คนนั้นก่อน

นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผมมักจะเล่นได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ในช่วงเวลาหนึ่งติดต่อกันจนเงินบนหน้าตักผมกองท่วม อาจจะเป็นเพราะผมมีฝีมือ หรือที่น่าจะเป็นมากกว่า ก็คือ "ดวง" กำลังขึ้น แต่หลังจากนั้น "ดวง" ผมก็มักจะเริ่มตก ผมเริ่มแพ้หรือเสียเงินมากขึ้นและมากขึ้น จนเงินกองโตนั้นลดลงไปเรื่อยๆ จนแทบหมดซึ่งถ้าเวลายังเหลือ

ผมก็จะต้อง "ควักเค้า" หรือเอาเงินจากกระเป๋าออกมาเพิ่ม และแล้วโชคก็มักจะกลับมา ผมเริ่มได้กำไรและพอร์ต...อุ๊บ... กองเงินบนหน้าตักก็เติบโตขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็จะลดลงไปอีกในเวลาต่อมา เป็นวงจรหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณตีสอง ซึ่งได้เวลานอนและเป็นเวลาที่ต้องเลิกเล่น นั่นก็จะเป็นเวลาตัดสินว่าผมจะได้หรือจะเสียเงินจากการเล่นพนันในครั้งนั้น

การเล่นหุ้นหรือการลงทุน โดยเฉพาะคนที่ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น และ "กล้าได้กล้าเสีย" บางทีผมก็คิดว่าอาจจะมีอะไรคล้ายๆ กับการเล่นเป็นเจ้ามือป๊อกเด้งอยู่เหมือนกันในแง่ของผลตอบแทน หรือเม็ดเงินที่ได้หรือเสีย ลองมาดูตัวอย่างของนักลงทุนชื่อดังระดับโลกหลายๆ คน

คนแรก ก็คือ Jesse Livermore "นักเก็งกำไรบันลือโลก" ลิเวอร์มอร์นั้น เป็นนักเก็งกำไรโดยเฉพาะในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ โดยการใช้มาร์จิน หรือเงินกู้มาเก็งกำไรมหาศาล วิธีการลงทุนนั้น แน่นอน คงเป็น การ "ซื้อนำ" ไล่ราคา รวมถึงการปล่อยข่าวต่างๆ

ในแนวนี้ก็คงคล้ายๆ กับการทำตัวเป็น "เจ้ามือ" ป๊อกเด้ง ซึ่งมีความได้เปรียบคน ที่ "ซื้อตาม" หรือลูกมืออยู่ไม่น้อย ผลการเล่นหุ้นหรือเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์นั้น คล้ายคลึงกับเจ้ามือป๊อกเด้งมากนั่น ก็คือ เขารวยขึ้นมหาศาลจนกลายเป็น "เซเลบ" ที่คนรู้จักกล่าวขวัญกันไปทั่ว และต่อมาเขาก็เจ๊งจนล้มละลาย แต่ด้วยการที่ยัง มี "เครดิต" หรือ ยัง "เหลือเค้า" อยู่บ้าง เขาจึงสามารถทำกำไรกลับมาได้อีก แต่แล้วเขาก็เจ๊งอีก นับได้ถึงสามครั้งที่เขาล้มละลายและกลับมาใหม่เหมือนเจ้ามือป๊อกเด้งเหมือนกัน โชคไม่ดีที่ครั้งสุดท้ายตอนที่เขาเลิกเพราะฆ่าตัวตาย พอร์ตของเขาเหลือศูนย์ดอลลาร์

คนที่สอง ผมยกให้ Julian Robertson ตำนานผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ อดีตผู้บริหารกองทุน Tiger Fund กองทุนเฮดจ์ฟันด์กองแรกๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยเทคนิคการลงทุนที่มาใน แนว "VI" อยู่เหมือนกันแม้ว่าหลายคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่

ผลตอบแทนที่โดดเด่นทำให้พอร์ตของเขาเติบโตมหาศาล จากปีเริ่มต้นในปี 1980 ที่พอร์ตแค่ 8 ล้านดอลลาร์กลายเป็น 7.2 พันล้านในปี 1996 และกลายเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วยกองทุนถึงกว่า 22 พันล้านดอลลาร์ ในปี 1998

แต่พอถึงปี 2000 "โชค" ก็ไม่เข้าข้างเขา กองทุน Tiger มีผลงานย่ำแย่มาก ผลงานพ่ายแพ้ดัชนี S&P ย่อยยับและผู้ถือหน่วยลงทุนพากันถอนทุนทำให้เขาต้องประกาศปิดกองทุน สาเหตุหนึ่งก็คือการที่กองทุนไม่ได้ถือหุ้นไฮเทคที่กำลังร้อนแรง และราคาวิ่งกันมายาวนานเลย

ที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ การที่ Tiger Fund ถือหุ้นบริษัท US Airway อยู่ในพอร์ตมหาศาล ซึ่งราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนักและเขาปฏิเสธที่จะขายมัน ในที่สุด US Airway ก็ล้มละลายทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียหายยับเยิน

ยังดีที่ Robertson ยังเหลือเงินส่วนตัวอยู่บ้าง ต่อมาเขาก็ใช้เงินนั้นช่วยเป็น "เงินเริ่มต้น" เพื่อก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ใหม่ๆ อีกหลายสิบกอง

นอกจากนั้น ลูกน้องหลายคนที่เคยทำงานใน Tiger Fund ก็ออกไปตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหม่ๆ อีกหลายกองที่เรียกกันว่า Tiger Cubs หรือกองทุน "ลูกเสือ" ส่วนตัวจูเลียนเองก็คงจะแก่เกินที่จะเล่นเองแล้วเขาจึงหันมาทำเรื่องการกุศลแทน

คนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง ก็คือ Bill Miller ผู้บริหารกองทุน Legg Mason Value Trust บิล มิลเลอร์ เคยเป็นสุดยอดนักบริหารกองทุนรวม ที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด ในระยะเวลาที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ ในระยะเวลา 15 ปี จากปี 1991-2005 กองทุนของเขาทำผลตอบแทนชนะดัชนี S&P ได้ทุกปีติดต่อกัน กองทุนเติบโตขึ้นจาก 750 ล้านดอลลาร์ในปี 1990 เป็น 20 พันล้านดอลลาร์ในปี 2006

เขาบอกว่าตนเองเป็น Value Investor ทั้งๆ ที่พอร์ตลงทุนของเขาเล่นหุ้นไฮเทคจำนวนมาก ที่มีราคา หรือค่า PE สูงลิ่ว ในตอนนั้นเขาเป็น "ซูเปอร์สตาร์" แต่แล้ว "โชค" ก็ไม่เข้าข้างเขา ตั้งแต่ปี 2006 ผลตอบแทนของเขาก็ตกต่ำลง และต่ำกว่าดัชนี S&P ในปี 2008 จากต้นปีถึงเดือน มิ.ย. พอร์ตเขาขาดทุนถึง 28%

ในขณะที่ดัชนีลบแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้านับย้อนหลังไปสิบปี สถิติของเขาต่ำกว่าดัชนี S&P และแม้ว่าจะดูย้อนหลังไปตั้งแต่ตั้งกองทุน ผลตอบแทนที่เคยยอดเยี่ยมนั้น ก็กลายเป็นธรรมดา คือ ดีกว่าดัชนี S&P เพียงนิดเดียว เทียบกับ เจ้ามือป๊อกเด้ง นี่ก็คือ ช่วงที่เงินบนหน้าตักกองโตลดฮวบลงไปเกือบหมด เราคงต้องดูกันต่อไปว่าเงิน "บนหน้าตัก" จะโตขึ้นอีกไหมสำหรับ บิล มิลเลอร์

อาการแบบเจ้ามือป๊อกเด้ง หรือจะเรียกให้เท่ว่า "ป๊อกเด้งซินโดรม" นี้ ผมคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่น้อยถ้าเวลาของการเล่น หรือการลงทุนยาวพอ มันเกิดขึ้นได้กับนักลงทุนธรรมดาเช่นเดียวกับ "เซียน" มันเกิดขึ้นได้กับคนที่เป็นนักเก็งกำไรเช่นเดียวกับคนที่เรียกตัวเองว่า Value Investor

ดังนั้น เราต้องไม่ประมาทและมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป สถานการณ์ตลาดหุ้นที่เป็นกระทิงที่ยาวนาน อาจทำให้เราฮึกเหิมและโลภเกินไปจนลืมไปว่า "หายนะ" นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าที่เราคิด เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ถ้าเราไม่แน่ใจ การ "เก็บเงินเข้ากระเป๋าบ้างในยามที่เงินกำลังกองเต็มหน้าตัก" ก็อาจเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เลวนัก

from http://bit.ly/gOUHcU


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)