26 ธันวาคม 2553

สงคราม E-Books ในไทย สุดท้าย...ใครชนะ!! (1)

หลังจากที่ Barnes & Noble (BN) ร้านหนังสือออนไลน์ที่เคยพลาดท่าเสียทีต่ออเมซอน ผมนั่งอ่านข่าวสงคราม E-Book ในตลาดโลกด้วยความสนใจครับ


ครับ- ผมนั่งอ่านข่าวสงคราม E-Book ในตลาดโลกด้วยความสนใจครับ เพราะหลังจากที่ Barnes & Noble (BN) ร้านหนังสือออนไลน์ที่เคยพลาดท่าเสียทีต่อร้านหนังสือ Amazon .com เมื่อครั้งทำศึกชิงความเร็วในการเปิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพื่อให้บริการลูกค้าช้ากว่าค่ายอเมซอน

ล่าสุดค่าย BN ก็ออกตัวช้าอีกแล้ว...ออกมาไล่ตาม Amazon อีกครั้งด้วยการเปิดร้านจำหน่ายอีบุ๊คทั้งที่ทางบริษัท BN อ้างน้ำลายแตกฟองว่า ตัวเองใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีอีบุ๊คเตรียมไว้ให้บริการมากกว่าถึง 700,000 ไตเติล

ยิ่งไปกว่านั้นค่าย BN ยังดอดไปเซ็นต์สัญญาจับมือกับ ค่าย Plastic Logic บริษัทผู้ผลิตเครื่องอ่านอีบุ๊ค เพื่อชนกับเครื่องยี่ห้อ Kindle ของค่าย Amazon อีกด้วย

รายงานข่าวต่างประเทศเขาระบุเอาไว้ว่า ผู้บริหารของ BN ออกมากล่าวว่า ข้อมูลอีบุ๊คที่จำหน่ายในร้านนั้นจะมีความสามารถสูงในการนำไปเข้ากับเครื่องอ่านอีบุ๊คในท้องตลาดที่กำลังได้รับความนิยมหลายรุ่นรวมถึงเครื่อง iPhone และ iPod Touch สมาร์ทโฟน Blackberry และคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ Windows และ Mac OS อีกด้วย
และอย่างที่บอกว่า เขามีข้อมูลอีบุ๊คที่ให้บริการในร้านจะมีมากกว่า 700,000 ไตเติล -ขณะที่ทางค่าย Amazon มีประมาณ 300,000 ไตเติลเท่านั้น ซึ่งข้อมูลที่มีนั้นจะเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดหลายร้อยรายการที่จำหน่ายในราคาเพียงไตเติลละ 9.99 ดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 360 บาท) เท่านั้น

ผู้บริหารของNB ยังโม้ขี้ฟันฟุ้งแถมยังคุยอีกด้วยว่า ในปีหน้า 2011 ทางค่ายเขาจะมีจำนวนไตเติลของอีบุ๊คในร้านเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,000,000 ไตเติลอย่างแน่นอน เรียกว่าการให้บริการของเขาจะครอบคลุมอีบุ๊คจากทุกสำนักพิมพ์หนังสือเล่มที่มีอยู่ และทุกไตเติลที่มีต้นฉบับเป็นอีบุ๊คอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สำหรับอีบุ๊คที่อยู่ในสต็อกนั้น ปรากฏว่ามีอยู่มากกว่า 500,000 ไตเติลจะเป็นหนังสือที่เผยแพร่ได้ในลักษณะที่เป็นสาธารณสมบัติจาก Google ซึ่งสามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้ฟรี โดยทางค่าย BN จะได้ใช้แอพพลิเคชั่น eReader เวอร์ชันอัพเกรดที่พัฒนาโดยบริษัท Fictionwise ที่ซื้อมาเมื่อต้นปี 2010 โดยแอพฯดังกล่าวจะมีเวอร์ชั่นบน iPhone และ Blackberry เช่นเดียวกับเวอร์ชั่นที่สามารถรันบนคอมพิวเตอร์ที่ใช้โอเอสเป็น Windows และ Mac

ซึ่งผู้ที่ใช้เครื่อง eReader ในครั้งแรกจะสามารถดาวน์โหลดอีบุ๊คฟรี โดยรวมถึงไตเติลอย่าง Pocket Dictionary ของ Merriam-Webster, Sense and Sensibility, Little Woman, Last of Mohicans, Pride and Prejudice และ Dracula

เนื้อข่าวยังบอกเอาไว้อีกว่า นอกจากในส่วนของร้านจำหน่ายอีบุ๊ค และแอพพลิเคชั่น eReader แล้วค่ายผู้บริหารของค่าย BN ยังได้แนะนำเครื่องอ่านอีบุ๊คที่จะใช้ต่อกรกลับ Kindle ของ Amazon ด้วย

โดยทางบริษัทจะทำให้หน้าร้านอีบุ๊คทำงานเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับ eReader เครื่องอ่านอีบุ๊คของ Plastic Logic รายเดียวเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะวางตลาดเครื่องอ่านได้ในต้นปี 2010 ตามเนื้อข่าวนั้นระบุเอาไว้ว่า
จุดเด่นของ eReader ที่เป็นฮาร์ดแวร์ก็คือ มันมีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ถึง 8.5 x 11 นิ้ว บางเพียงแค่ 0.27 นิ้ว และเบามาก

อีกทั้งหน้าจอยังทำงานในระบบสัมผัสอีกด้วย ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้ในการแสดงผลยังคงเป็นอีอิงค์เช่นเดียวกับเครื่องของKindle แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยเรื่องของราคาเครื่องอ่านออกมาแต่อย่างใด
ผมอ่านข่าวสงคราม E-Book ระดับโลกแล้วกลับมานั่งจิบกาแฟดำริมหน้าต่าง...คิดกลับไปกลับมา มองข้อดีข้อเสียของพัฒนาไปอีกขั้นของการอ่านหนังสือของชาวโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเห็นภาพชัดครับ

รวมไปถึงคนไทยเราด้วยในอนาคต...เพราะอะไรใหม่-เทคโนโลยีแบบไหนล้ำ นำเทรนด์....คนไทยเราไม่พลาด รวมไปถึงเกี่ยวกับการอ่านหนังสือด้วย บางคนมีเงินซื้อ (แต่ไม่ชอบอ่านหนังสือเล่ม) พอมีเครื่องอ่าน E-Book เข้ามา ไม่มีรอช้า เพราะว่าถอยเครื่องมาเดินถือ...นั่งเล่นในร้านกาแฟหรูก็ดูทันสมัยแล้ว แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ผมถือว่า ขอให้คนรักการอ่านเถิดจะอ่านแบบไหนไม่สำคัญ

เพราะการอ่านไม่เคยทำลายใคร....???

ผมมานั่งคิดสะระตะแล้วสำหรับระดับโลกนั้น รู้สึกว่ามันมีประโยชน์ไม่น้อยครับ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

อย่างแรกสุดคือ ผมเชื่อว่า ทำให้การอ่านหนังสือจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะหากมีเครื่องอ่าน e-Book เพียงเครื่องเดียวก็เหมือนกับมีหนังสือเป็นพัน ๆ เล่ม พกพาไปไหนมาไหนได้สบายมาก เรียกว่าคุณมีห้องสมุดเคลื่อนที่เลยทีเดียว
นอกจากนี้การอ่านหนังสือในยุคใหม่ จะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เพราะเครื่องอ่าน e-Book รุ่นใหม่ๆ มีความสามารถที่จะแสดงผลด้วยภาพ ข้อความ เสียง และมีภาพเคลื่อนไหวได้ด้วย แต่จะแสดงเป็นสีหรือขาวดำนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องอ่าน e-Book Reader เช่น Kindle ของ Amazon แสดงเป็นขาว-ดำ ส่วนเครื่องของ iPad แสดงหน้าจอเป็นสี

ประโยชน์ในประการต่อมาก็คือ ผู้อ่านทั้งหลายสามารถย้อนกลับไปอ่านหน้าที่ผ่านมาแล้วได้สะดวกและง่าย เพราะบางทีการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษที่เป็นเล่มหนา ๆ การจะกลับไปค้นหาคำบางคำเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และนอกจากนี้ยังมีความสามารถในการเชื่อมโยงกับข้อความต่าง ๆ ภายในตัวหนังสือ หรือภายนอกเว็บไซต์อื่น ๆ จากอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถได้รับความสารที่รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้นตลอดเวลา

และผมเข้าใจว่ามันจะทำให้ การกระจายข่าวสารต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวางกว่าสื่อที่อยู่ในรูปสิ่งพิมพ์ เพราะการส่ง content จำนวนพัน ๆ หน้าสามารถทำได้เร็วกว่าที่จะต้องไปถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่ม ซึ่งบางทีก็ข้อความไม่ชัด และเสียเวลา

อีกอย่างหนึ่งคือ บางครั้งความต้องการในอ่านหนังสือเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ความสามารถในอ่านพร้อม ๆ กันได้หลาย ๆ คน โดยไม่ต้องรอยืม หรือคืนเหมือนหนังสือที่เป็นกระดาษในห้องสมุด ทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้นและอย่างที่บอกว่า เราสามารถอ่านได้หลาย ๆ ครั้ง เพราะไม่ยับและไม่เสียหายเหมือนกระดาษ เพราะหลายครั้ง การอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ การเกิดการขาดยับได้ง่าย

ครับ-นอกจากนี้เครื่อง e-Book แทบทุกรุ่นทุกเครื่องจะมีเสียงประกอบหรืออ่านออกมาเป็นเสียงได้ เพื่อผู้พิการทางสายตาหรือผู้ที่ต้องการพักสายตา และสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นเสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชายและเนื่องจากเครื่องแบบนี้ไม่ต้องใช้กระดาษในการผลิต มันจึงช่วยด้านสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องมีการตัดต้นไม้มาทำเป็นกระดาษก่อน และไม่ต้องมีการพิมพ์หมึกลงไปบนกระดาษ ทำให้ไม่เปลืองหมึกพิมพ์ นอกจากนี้มันยังลดขั้นตอนการจัดส่ง ก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลงได้ ทำให้สามารถจำหน่ายในราคาได้ในราคาที่ถูกกว่าหนังสือที่เป็นกระดาษ

ที่สำคัญคือนักเขียนสามารถขายผลงานของตนเองได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ใดๆ ทำให้ราคาถูกลง และน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดนักเขียนใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ง่ายมากขึ้นทำสำเนาได้ง่าย และ สามารถ update ได้รวดเร็ว ไม่มีความตายตัว,ตัวเครื่องมีความทนทาน สะดวกต่อการเก็บรักษา ลดปัญหาการจัดเก็บ (CD 1 แผ่นสามารถเก็บ e-Book ได้ประมาณ 500 เล่ม) ในอนาคตผู้คนจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือ เพราะว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีสัญญาณ Wi-Fi เพราะหนังสือบางเล่มในร้านก็ไม่มีขายแล้วด้วยซ้ำไป

สงคราม e-Book ในโลกอนาคตอันไม่ไกลข้างหน้านี้ จะมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทั้งหลาย ที่สำคัญสำนักพิมพ์ทั้งหลายก็อาจจะไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาทำ Art work จัดทำรูปเล่มกันอีกต่อไป
แต่นั้นคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ....และในกลุ่มคนไทยที่อ่านภาษาอังกฤษแตก....

แล้วคนไทยที่อ่านภาษาไทยล่ะ....สงคราม E-Book thai ใกล้จะมาถึงแล้วหรือยัง....สัปดาห์หน้า...มาว่ากันต่อครับ!!

from http://bit.ly/g0PLje


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)