29 เมษายน 2553

เหนื่อยรอบโลก โดย หนูดี วนิษา เรซ


เหนื่อยรอบโลก โดย หนูดี วนิษา เรซ

เราเพิ่งกลับมาทำงานกันหลังวันหยุดยาว หลายคนอาจจะคิดถึงและกระหายวันหยุดอีกครั้ง เพราะตอนพักผ่อนนั้นมันสบายใจดีเหลือเกิน

แต่พอกลับมาทำงานก็เหมือนต้องกลับเข้ามาสู่โลกแห่งความวุ่นวายอีกครั้งหนึ่ง

คนไทยคงไม่ได้เป็นคนชาติเดียวในโลกที่รู้สึกว่า โลกช่วงนี้ทำไมช่างร้อนและวุ่นวายนัก แถมงานการก็ดูหนักกว่าที่เคย มามองออกไปข้างนอกกันไหมคะว่า ที่อื่นในโลกเขาเป็นแบบเราบ้างหรือเปล่า

ในสหรัฐอเมริกา หนูดีคิดว่า คงเผชิญศึกเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าเรา ในแบบสอบถามของบอสตันดอทคอม ได้ถามคนอเมริกันวัยทำงานกว่า 1000 คน ว่า รู้สึกว่า ชีวิตเขาวุ่นวายเกินไปกว่าที่จะรวบรวมสมาธิในการทำงานให้มีคุณภาพไหม

น่าตกใจว่า 62.8 %ตอบว่า ชีวิตเขาวุ่นเกินไปจริงๆ ทำหลายอย่างพร้อมกัน พอจะต้องลงมือทำงานที่มีความสำคัญจริงก็เลยไม่ค่อยมีสมาธิเท่าที่ควร ส่วนอีก 23.0 % ตอบว่า เป็นบ้างแค่บางครั้ง และมีอีกแค่ 14.2 %ที่ตอบว่า ทุกอย่างเป็นปกติดี เขาไม่มีปัญหาอะไรเลย

ส่วนที่นิวยอร์กองค์กรเพื่อครอบครัวและการทำงาน (Families and Work Institute) ได้ออกมารายงานผลการตรวจสอบว่า หนึ่งในสามของพนักงานรู้สึกเหมือนทำงานมากเกินไป และ 54 % รู้สึกกดดันจากภาวะงานในหนึ่งเดือนที่ผ่านมาของการสอบถาม ฟังแล้วน่าเป็นห่วงนะคะ

ทำไมคนอเมริกันถึงได้เกิดความรู้สึก “หนักหนาสาหัส” กันในช่วงนี้ คุณเอลเลน เกลินสกี้ ประธานขององค์กรเพื่อครอบครัวฯ สรุปไว้เห็นภาพทีเดียวว่า “การถูกรบกวน ขัดจังหวะในระหว่างการทำงานที่บริษัท และการที่ต้องเอางานกลับมาทำในเวลาที่ควรพัก เช่น ตอนอยู่บ้านหรือช่วงพักร้อน ทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนงานหนักจนจะทนไม่ได้”

หันมามองที่อังกฤษดูบ้างค่ะ หนังสือ Evening Standard ได้ถามผู้หญิงลอนดอนวัยทำงานว่า อะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้คุณเครียด คำตอบที่ชนะเลิศอันดับหนึ่งคือ “ข้อมูลล้นเกิน” โดยสาวๆ เหล่านี้ถึง 59 %บอกว่า เขาเครียดจาก ข้อความที่ส่งไม่หยุดหย่อนทางโทรศัพท์มือถือ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ วอยซ์เมล และเมื่อถูกถามเกี่ยวกับการจัดสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน มีถึง 67 %ทีเดียวที่บอกว่า เขาไม่สามารถ “สับสวิตช์” ให้สมองพักในเวลาที่ควรพักได้ เพราะเรื่องงานยังคงตามเข้ามารบกวนตลอด แม้ในเวลาที่ต้องพักแล้วก็ตาม

เวลาหนูดีอ่านข้อมูลพวกนี้แล้วชอบเอามานึกเปรียบเทียบกับพฤติกรรมตัวเองดูว่า เรามีนิสัยแบบไหนที่จะทำให้เครียดเยอะขึ้นเหมือนคนที่ตอบแบบสอบถามหรือเปล่า นิสัยติดโทรศัพท์มือถือ ติดข่าวสาร เปิดเช็คอีเมลตลอดเวลา รวมถึงการเอางานไปสะสางในวันหยุดนั้นบางครั้งเราเองก็ทำ แล้วจะมารู้ตัวเช้าอีกวันค่ะ ว่าทำไมวันนี้ตื่นขึ้นมาไม่สดใสเอาเสียเลย ต้องคอยมองย้อนทวนกลับไปที่สิ่งที่ทำเมื่อวาน แล้วก็มักได้คำตอบอยู่ตรงนั้นเอง

คนทำงานเก่งมักชอบทำงานหลายอย่าง และเมื่อทำงานได้น้อยก็โทษตัวเองและรู้สึกไม่ดี แต่การทำงานหลายอย่างโดยไม่ดูข้อจำกัดของร่างกายและสมองเป็นตัวการของความเครียดขั้นรุนแรงเสมอ คนเมืองหลายคนถึงเป็น “ไมเกรน” กันบ่อย หนูดีเองก็เพิ่งเป็นกับเขาด้วยเหมือนกันตั้งแต่กลับมาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อ 2-3 ปีก่อนนี่เอง

ดร.เอ็ดเวิร์ด ฮอลโลเวล คุณหมอจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปรียบเทียบชีวิตคนเมืองอย่างพวกเราไว้เหมือนกับนักโยนลูกบอลกลางอากาศ เขาเล่าให้ฟังถึงครั้งหนึ่งที่เขาคุยกับนักโยนลูกบอลคนหนึ่ง ที่โยนลูกบอลได้ถึง 6 ลูกในเวลาเดียวกัน ทั้งที่คนธรรมดาโยนแค่ 3 ลูกยังยากเลย

พอถามนักโยนบอลคนนี้ว่า จะฝึกโยนให้ได้ถึง 7 ลูกไหม คำตอบที่ได้รับก็คือ “ไม่” ค่ะ ด้วยเหตุผลว่า หากจะโยนให้ได้ 7 ลูก เขาต้องฝึกช่วงเย็นอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน ซึ่งเขาบอกว่า เขาเสียดายเวลาที่จะเอาไปนั่งพัก เอาไปนั่งเล่นกับภรรยา หรือเอาไปอ่านนิทานและสอนการบ้านลูก ที่สำคัญ แค่โยนได้ 6 ลูกเท่านี้ก็โชว์ได้หลายแบบแล้ว บางแบบทำเอาคนนั่งอ้าปากค้างยังมีเลย ดังนั้น เขาคิดว่า ราคาของการโยนลูกบอลให้ได้อีกลูกนั้น แพงไป

หนูดีว่า งานที่เราทำก็เหมือนลูกบอลค่ะ เราโยนไว้กลางอากาศได้จำนวนจำกัด ก่อนที่เราจะเริ่มเครียดและลูกบอลจะเริ่มหล่นลงพื้น ในฐานะคนทำงาน เราคงต้องตัดสินใจให้ดีว่า ลูกบอลงานของเราจะมีกี่ลูกกันแน่ เพราะเรายังต้องแบ่งเนื้อที่มาโยนลูกบอลในชีวิตส่วนตัวด้วย ทั้งเรื่องสุขภาพเราเอง เวลาให้พ่อแม่ และหากเรามีลูก พวกเขาก็ยังต้องการเราด้วย

จริงๆ เราจะโยนมากแค่ไหนก็ได้ แต่ลูกบอลทุกลูกมีราคา...แพงมาก คงต้องเลือกหยิบให้ดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป จะได้ไม่รู้สึกเครียดจากงานล้นเกิน หรือ โหวงเหวงเพราะทำน้อยกว่าความสามารถตัวเองค่ะ

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20100429/111647/เหนื่อยรอบโลก.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)