06 เมษายน 2553

'บ๋อย' สมองกล


'บ๋อย' สมองกล


เรื่องเล่าของทันตแพทย์สาวที่ฝังใจกับความฝันวันเยาว์ ขนาดควักกระเป๋าซื้อฝันด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารรายแรกของไทย ทันตแพทย์หญิง ลภัสรดา ธนพันธ์ หรือ คุณหมอบี เจ้าของไอเดียอลังการ เปิดร้านอาหารที่มีพนักงานเสิร์ฟสมองกล เริ่มต้นเล่าถึงความฝันสมัยเด็ก ที่เธอเชื่อว่าเป็นความฝันที่ไม่ต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ ว่าอยากจะได้ใกล้ชิดกับหุ่นยนต์

โดยเมื่อโตขึ้น ความฝันนั้นก็ยังเก็บอยู่ในใจลึกๆ ขณะก้าวเดินบนเส้นทางชีวิตทันตแพทย์ จนกระทั่งเส้นทางฝันมีทางมาบรรจบกับความจริง เมื่อหมอบีได้มีโอกาสเดินทางไปชมงานนิทรรศการหุ่นยนต์ เครื่องจักรกลที่ต่างประเทศเมื่อ 5 ปีก่อน และพบว่าหุ่นยนต์วันนี้เข้ามาใกล้ตัวคนเรามากขึ้น

พร้อมๆ กันนั้นก็ได้มีฝันก้อนใหม่ผุดขึ้นในใจ โดยอยากจะเป็นเจ้าร้านอาหารญี่ปุ่นดีๆ สักร้านที่ได้อย่างใจต้องการ ว่าแล้วก็ไม่รีรอ คุณหมอสาวขอกลั่นความฝันในวันเยาว์ให้เป็นจริง ด้วยการตัดสินใจเปิดร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น "ฮาจิเมะ" ที่มีจุดเด่นคือใช้สมองกลเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทั้งหน้าร้านและหลังร้าน

หมดปัญหา ป่วย-ลา-มาสาย

พูดถึงประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่มนุษย์จะได้รับจากจักรกลแล้ว คนส่วนมากจะมองไปที่ ความเที่ยงตรง แม่นยำ แต่สำหรับสายตาคุณหมอผู้รักความสะอาดเป็นชีวิตจิตใจ เรื่องการปลอดภัยจากการปนเปื้อนในอาหารกลับเป็นจุดเด่นที่ทำให้หมอบีปิ๊งไอเดียอยากจะนำหุ่นยนต์มาใช้ในร้านอาหาร

"ถ้าเราเอาหุ่นยนต์มาใช้เสิร์ฟอาหารก็จะสามารถป้องกันการปนเปื้อนในอาหารให้ลูกค้าได้รับความสะอาดปลอดภัยที่สุด เพราะหากเป็นพนักงานเสิร์ฟทั่วๆ ไป ก็จะอาจจะมีการพูดคุยกัน หรือหยิบจับภาชนะใส่อาหาร ทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารทั้งที่ตั้งใจ และ ไม่ได้ตั้งใจ

นอกจากนี้หุ่นยนต์มีข้อดีก็ตรงที่ไม่มีการป่วย -ลา - มาสาย ไม่มีเหนื่อย ไม่มีบ่น ไม่ประท้วงขอขึ้นเงินเดือน แถมยังไม่มีการแสดงอาการหงุดหงิดใส่ให้ลูกค้าเสียความรู้สึกอีกด้วย"

คุณหมอสาว เริ่มต้นเล่าถึงสาเหตุที่ว่า ทำไมร้านฮาจิเมะ ต้องใช้หุ่นยนต์มาทำหน้าที่เด็กเสิร์ฟ ก่อนจะเน้นย้ำว่า ตนเองไม่ได้มองแค่ให้หุ่นยนต์เป็นจุดขาย แต่มองไปถึงระบบออโตเมติกที่จะนำมาใช้ในร้านแทบทั้งหมด

การพัฒนาหุ่นยนต์ตามที่หมอบีอยากได้ จึงอยู่ในขั้น "ใช้งานจริง" โดยไม่ได้แค่มีหน้าที่โชว์ตัวเป็นจุดขายในร้านอย่างที่ใครหลายคนคิด โดยบอกว่าต้องใช้เวลามากถึง 2 ปี ร่วมกับทีมงานจาก "ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น" กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการให้เจ้าหุ่นยนต์ตลอดจนระบบปฏิบัติการภายในร้านตรงตามกับที่เธออยากได้

หุ่นยนต์ 4 ตัว ที่จะมาเป็นพนักงานของร้าน แบ่งออกเป็น หุ่นยนต์สองแขน และ หุ่นยนต์แขนเดียว อย่างละ 2 ตัว ซึ่งจะมีหน้าที่แตกต่างกัน หุ่นยนต์สองแขนทำหน้าที่เสิร์ฟอาหาร ขณะที่หุ่นยนต์แขนเดียวทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพ่อครัว หยิบอาหารที่จัดหรือปรุงเสร็จแล้วมาวางในช่องจัดวางสินค้า รอให้หุ่นยนต์สองแขนมารับไปส่งให้ลูกค้าถึงโต๊ะอีกที

สมองกล.. ต้นจนจบ

อาจเรียกได้ว่า ร้านฮาจิเมะ ซึ่งใกล้จะได้ฤกษ์เปิดร้านอย่างเป็นทางการ ที่คอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ "โมโนโพลี พาร์ค" ย่านพระรามสาม คือ ร้านอาหารร้านแรกที่รันด้วยระบบออโตเมติกแทบจะทั้งร้าน ไม่ใช่ว่าพอมีการนำหุ่นยนต์ 4 ตัวมาใช้ แล้วจะเหมาเอาว่านี่คือร้านอาหารหุ่นยนต์ หากแต่ร้านที่ว่าถูกรันโดยหุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมองกลเป็นหลัก

ส่วนพนักงานที่เป็น "คน" นั้นใช้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในครัว และ ช่วยงานหน้าร้านอีกเล็กน้อย

นับตั้งแต่ลูกค้านั่งลงที่โต๊ะ ก็จะพบกับหน้าจอแสดงรายละเอียดเมนูอาหาร และกดสั่งอาหารได้จากหน้าจอทัชสกรีน โดยสามารถป้อนคำสั่งพิเศษเพิ่มเติมได้ด้วยการพิมพ์ ซึ่งเมื่อกดยืนยันการสั่งอาหารแล้ว หน้าจอก็จะมีตัวเลขเคานท์ดาวน์ นับถอยหลังเวลาที่อาหารจะมาถึง

รู้ได้อย่างไรว่า อาหารจะมาถึงตอนไหน?

หมอบีตอบด้วยความภูมิใจถึงเทคโนโลยีที่ใช้หลังร้านซึ่งเป็นระบบออโตเมติกควบคู่กับการทำงานของพ่อครัว ซึ่งจะมีหน้าที่แล่เนื้อสัตว์ เตรียมผัก และ อาหารอื่นๆ สำหรับปิ้ง ย่างใส่จาน ก่อนจะนำไปป้อนข้อมูลด้วยระบบ RFID ว่าจานนั้นๆ หมายถึงเนื้อสัตว์หรือผักชนิดใด เพื่อให้หุ่นยนต์แขนเดียวสามารถหยิบอาหารไปใส่ในช่องใส่อาหารเตรียมให้หุ่นยนต์สองแขนซึ่งทำงานอยู่ด้านนอกได้หยิบไปเสิร์ฟได้อย่างถูกต้อง

พร้อมๆ กันนั้น ระบบเช็คสต๊อคที่ทำงานควบคู่กับเทคโนโลยี RFID ก็จะแจ้งข้อมูลกลับมายังพ่อครัวด้วยว่าจานอาหารที่อยู่ในสต๊อค เหลือมากน้อยแค่ ควรจะใส่อะไรเข้ามาเพิ่ม

"หุ่นยนต์ไม่มีทางรู้ว่า อาหารในจานคืออะไร เนื้อ หมู หรือ ไก่ หรือ ผัก ซึ่งเมื่อเราคิดที่จะเอาหุ่นยนต์มาเป็นพนักงานเสิร์ฟแล้ว เราก็ต้องคิดและทำให้จบกระบวนการ ไม่ใช่บอกกับคนอื่นว่า ร้านเราใช้หุ่นยนต์ แต่พอเอาเข้าจริงกลับยังต้องใช้คนในการถืออาหารมาส่งให้หุ่นยนต์อีก ซึ่งนั่นก็เท่ากับไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องความสะอาดของอาหาร"

ถามถึงความเร็วในการเสิร์ฟว่าเริ่ดกว่า "คนเป็นๆ" ขนาดไหน หมอบีประเมินคร่าวๆ ว่า หุ่นยนต์หนึ่งตัวจะทำหน้าที่ดูแลลูกค้าได้ 14 โต๊ะ โดยสามารถปรับความเร็วในการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับความต้องการในขณะนั้น

"ถ้าช่วงที่ลูกค้าแน่นร้าน เราก็จะปรับสปีดเร็ว เพื่อบริการให้ทันใจ โดยยึดหลักที่ว่า อาหารชุดแรกไม่ควรรอเกิน 5-10 นาที ส่วนช่วงเวลาที่ไม่ยุ่ง เราก็จะปรับสปีดช้าลงหน่อยให้ลูกค้าได้เห็นหุ่นยนต์อย่างใกล้ชิด"

และเมื่อลูกค้ารับประทานอาหารเสร็จ ตาวิเศษซึ่งจับอยู่ที่โต๊ะก็จะคำนวณว่าอาหารจากนั้นลูกค้าทานเสร็จหรือยัง หากว่าเสร็จแล้ว ระบบก็จะสั่งให้หุ่นยนต์ออกมาเก็บจาน โดยจะนำจานขึ้นวางบนสายพานเหนือโต๊ะซึ่งจะนำจานใช้แล้ววิ่งตรงไปยังหลังร้าน ผ่านมือคนให้ช่วยแยกกากอาหารชิ้นใหญ่ออกก่อน และส่งจานนั้นไปยังเครื่องล้างจานอัตโนมัติเพื่อทำความสะอาดจานต่อไป

นอกเหนือจากงานเสิร์ฟและเก็บจาน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเจ้าหุ่นยนต์แล้ว หมอบี ยังภูมิใจนำเสนอความสามารถพิเศษอื่นๆ ของเจ้าหุ่นยนต์พนักงานเสิร์ฟ

"หุ่นยนต์ของเราจริงๆ แล้วทำได้มากกว่างานเสิร์ฟ โดยทำอาหารก็ได้ แต่ต้องเป็นอาหารอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เช่น ผัด , ทอด ทำโอโคโนมิยากิ ก็ได้ หรือแม้กระทั่งจะให้เป็นพนักงานต้อนรับก็ยังได้ เพราะหุ่นของเราสามารถพูดโต้ตอบประโยคสนทนาพื้นฐานได้ นอกจากนี้ขอบอกว่าหุ่นเรายังสามารถเล่นมายากลได้อีกด้วย"

ความสามารถระดับเทพของเจ้าหุ่นทั้งสอง ทำเอาต้องแอบกระซิบถามราคาค่าตัวเจ้าหุ่นอัจฉริยะว่าเท่าไหร่กันหนอ

ทันตแพทย์สาวอมยิ้มไม่ยอมตอบ แย้มให้ฟังแค่ว่า ร้านนี้ทั้งร้านประเมินเงินลงทุนไว้ที่ 50 ล้านบาท แต่ตอนนี้ทะลุเพดานไปเรียบร้อยแล้ว โดยต้นทุนหลักๆ ก็จ่ายให้กับเจ้าหุ่นบ๋อยสมองกลทั้ง 4 ตัว ตลอดจนระบบออโตเมติกทั้งหลาย ซึ่งแม้จะดูว่าแพง แต่เจ้าตัวก็ยังยืนยันว่า คุ้มค่าถ้าเทียบกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่มอบให้กับลูกค้า

นัยว่าซื้อใจได้ไปเต็มๆ ส่วนเรื่องกำไรนั้น คุณหมอสาวบอกว่า "รอได้ ไม่รีบค่ะ"

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/hi-life/20100223/101471/บ๋อย-สมองกล.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)