06 กันยายน 2553

ใจใสรับวัยเกษียณ

เดือนกันยายนเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นช่วงแห่งการฉลองชัยวัยเกษียณสำหรับท่านที่ทำงานภาครัฐ

อย่างไรก็ดี สำหรับคนทำงานจำนวนไม่น้อย เมื่อข้ามเส้นชัยและก้าวสู่ชีวิต “ใหม่” อะไรๆ อาจดูเงียบเหงา ดูเฉาๆ เศร้าๆ ซึมๆ จากการที่ต้องเร่งตื่น เร่งกิน เร่งทำงาน เวลาเป็นสิ่งแสนมีค่า กลายเป็นมีเวลาล้นเหลือ จนเบื่อมัน

ดิฉันขอเสนอมุมมองและแนวทางการเตรียมตัวรับวัยใกล้เกษียณของคุณหมอ แอนดรู เวล ผู้ที่นิตยสาร Times คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ท่านโด่งดังเรื่องการผสมผสานการแพทย์ยุคใหม่กับศิลป์และปรัชญาหลากหลายของการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา การทำสมาธิ หรือโยคะ เพื่อความสมดุลและชีวิตที่สมบูรณ์หลังวัยทำงาน

หนังสือ Healthy Aging ของคุณหมอ เน้นเรื่องการก้าวสู่ชีวิตผู้สูงวัยอย่างมีสุขภาพดี คุณหมอระบุหลายปัจจัยที่จะส่งให้ทุกชีวิตทุกวัยที่ร่างกายเริ่มถดถอยตามสภาพ สามารถมีความสุขกายสบายใจได้เต็มที่

สรุปสาระสำคัญได้เป็น 3 หัวข้อหลัก คือ เตรียมมุมมอง เตรียมกาย และเตรียมใจ

1.เตรียมมุมมอง

ผู้ที่มีความสุขทั้งกายและใจหลังวัยเกษียณ มีมุมมองที่ต่างจากผู้ที่เหงาและเฉาเมื่อผ่านประสบการณ์เดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

ผู้ที่เฉามักมองวัยเป็นอุปสรรค เป็นปัญหา อาจมองว่าฉันด้อยค่าเพราะ “แก่”

ผู้ที่สุขใจส่วนใหญ่เป็นเพราะมองวัยตามความเป็นจริง คือ...เป็น “วัย” ไง ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น

การเกิด แก่ เจ็บ หรือแม้แต่ตาย คือเรื่องปกติธรรมดา อายุมากขึ้น ก็แก่ขึ้น ร่างกายก็ต้องถดถอย อวัยวะก็เสื่อมลงไปบ้างเป็นธรรมดา

มิได้วิตกทุกข์ร้อนเกินกว่าธรรมดา

วัยมากขึ้นก็สามารถมีความสุข และสุขภาพที่ดีเต็มที่ “ตามวัย” จะให้ซู่ซ่ากระโดดขึ้นม้าหมุน เหมือนในอดีตก็ใช่ที่ เกินเหตุ เกินธรรมดา

ผู้ที่เห็นและยอมรับสภาวะความเป็นจริง และมีความสุขตามมุมมองที่ปรับให้ตรงกับธรรมชาติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของผู้เตรียมการเข้าวัยเกษียณ

2. เตรียมกาย

ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอเวล หรือคุณหมอไหนๆ สิ่งที่ท่านจะเน้นย้ำแล้วย้ำอีกว่าสำคัญหนักหนาคือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

คุณหมอเวลแนะนำการออกกำลังกายแบบง่ายๆ ไม่ต้องเปรี้ยวมาก มีประโยชน์ไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมทำได้คนเดียว ไม่ต้องนัดต้องรอใครให้รุงรัง นั่นคือการเดิน

ผู้ที่วัยเตรียมเกษียณยิ่งต้องเตรียมกายให้พร้อมและเริ่มวางแผนหัดและฝึกการออกกำลังกายให้เป็นนิสัย โดยคุณหมอแนะนำให้เดินเร็วๆ วันละประมาณ 45 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งดีกับการทำงานของร่างกายและหัวใจ

นอกจากนั้น คุณหมอยังแนะนำให้ลองฝึกโยคะแบบพื้นฐาน ไม่ต้องใช้ท่ายากๆ พิสดารพันลึก โยคะพื้นฐานเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากขึ้นมักปวดตัวปวดข้อ การฝึกโยคะจะทำให้ปัญหาเหล่านี้น้อยลง

เมื่อออกกำลังกายแล้ว ท่านผู้อ่านต้องหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ลดอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง ลดโปรตีนจากสัตว์ ยกเว้นปลา เพิ่มอาหารที่ทำจากเต้าหู้และถั่วเหลือง กินผักผลไม้มากๆ ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน ลดหรืองดสุรา หยุดบุหรี่

ทั้งนี้ ผู้ที่เตรียมหยุดงานประจำ ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ตัวเองโดยพักผ่อนและนอนให้เพียงพอตลอดจนไม่เครียด ไม่คิดหมกมุ่น ยิ่งเวลาเหลือวันทั้งวัน หากยิ่งคิดติดบ่วงวนไปวนมา ส่งผลให้เครียดเกินเหตุ

ผู้ที่เตรียมเกษียณ จึงต้องเตรียมการหางานอดิเรกทำ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ หรือบำเพ็ญประโยชน์ สร้างสะสมบุญในรูปแบบและโครงการต่างๆ ได้สารพัด

ที่ดีสุดคืออย่าหยุดนิ่งๆ อยู่กับที่ หาอะไรใหม่ๆ ทำ เก่าสำหรับใครไม่เป็นไร ใหม่สำหรับฉันเป็นใช้ได้

3.เตรียมใจ

ประเด็นที่ดิฉันเห็นว่าสำคัญที่สุด คือการเตรียมใจ การ “เจียระไนจิต” ให้วับวาวพราวแสง

ทำจิตให้เบิกบาน มองโลกในแง่ดี โลกแง่ที่ไม่ดีก็มี แต่ไม่ต้องมองมันมาก ไม่ต้องวุ่นวายเอามาแบก มาหาม ให้เหนื่อย ให้เมื่อย ให้เปื่อยใจ

การสั่งจิตให้ผ่องใสไม่มีใครสั่งได้...ยกเว้นตัวเรา

ดังนั้น ชีวิตหลังเกษียณ ถึงจะเปลี่ยนไปไม่ว่าจะทางใด หากเตรียมใจ เตรียมจิตให้พร้อม แม้ลูกหลานจะไม่ใส่ใจ ลูกน้องจะไม่มาหา ร่างกายก็อ่อนล้าไปตามวัย

แต่ถ้าใจบอกไม่เป็นไร...ก็ไม่เป็นไร ! ฉันอยู่ของฉันอย่างนี้ ก็เพียงพอดี

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

ขอให้ท่านผู้ที่เตรียมเกษียณโชคดีในชีวิตใหม่ค่ะ


ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/porjai/20100904/351365/ใจใสรับวัยเกษียณ.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)