19 กันยายน 2553

ร้านกาแฟพอเพียง...กันอย่างไร?

เมื่ออาทิตย์ก่อน "น้องส้มป์" เด็กนักศึกษาปี1 ม.แม่โจ้ ซึ่งเป็นลูกค้าประจำของ "โก๋กาแฟ" มาตั้งแต่เรียนมัธยม มาขอให้ผมช่วยตอบคำถามเพื่อเป็นรายงานส่งอาจารย์ เรื่อง "ร้านกาแฟ กับ เศรษฐกิจพอเพียง"
โดยเธอโอดครวญว่า อาจารย์กำหนดขนาดของรายงานให้มีไม่ต่ำกว่า 30 หน้า
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยได้มากแค่ไหน แต่ก็เอาเป็นว่า มาสนทนากันผ่าน facebook และ msn ข้ามจังหวัด ลำปาง-เชียงใหม่ นี่แหละ
จะได้มากน้อยแค่ไหนก็สุดแต่ความสามารถของทั้งคนถามและคนตอบก็แล้วกัน
ประเด็นของคำถามน่าสนใจ และ สนุกมาก เสียจนต้องขอเอาสำเนาการสนทนาผ่าน msn ในวันนั้นมาลงบันทึกไว้ที่นี่กันสูญหาย
...ลองมาดูกันนะครับ แล้วจะเห็นด้วยหรือเปล่าก็ไม่ว่ากัน

--------------------------------------------------------------------------------
ส้มป์ : เอาข้อแรกเลยนะคะ..พี่กี้มีระบบบริหารยังไงไม่ให้ขาดทุน?
พี่กี้ : จะเอาให้กระชับหน่อยก็ ควบคุมรายจ่าย ไม่ให้เกินกว่ารายรับ แต่ก็ต้องไม่ทำให้แรงขับเคลื่อนองค์กร ลดน้อยถอยลงด้วย
..แรงขับเคลื่อนสำคัญตัวหนึ่งก็คือ ค่าแรงที่สมน้ำสมเนื้อ และ การกล้าลงทุนในการพัฒนาคน ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ควรจะกล้าลงทุน
แต่เราก็ควรประหยัดเรื่องการจ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ เช่น ค่าพลังงาน หรือ การควบคุมการสูญเสีย จำพวกวัตถุดิบต่างๆ ต้องบริหารจัดการให้เหลือทิ้งสูญเปล่าน้อยที่สุด
..สงสัยไรเปล่า? จะได้ต่อข้อสองเลย
--------------------------------------------------------------------------------
ส้มป์ : พี่กี้คิดว่าร้านโก๋มีการเดินทางสายกลางไหม?
พี่กี้ : จ้ะ เป็นทางสายกลางพอสมควร คือ เราไม่บ้ามุ่งผลกำไรเีพียงอย่างเดียว และ เราก็ไม่ได้ทำตัวเป็นองค์กรสังคมสงเคราะห์
ที่ขายถูกเสียจนไม่ทำกำไรใดๆ (ไม่งั้นลูกน้องก็ไม่ต้องได้ขึ้นเงินเดือนกันพอดี)

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กล่าวว่า .. (คนนี้คุ้นๆ)
"การทำกำไรไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์ แต่เป็นข้อจำกัดในองค์กรธุรกิจและในการทำกิจกรรมของธุรกิจ"
นี่แหละ คือทางสายกลางของธุรกิจ
เมื่อเรามีหลักอย่างนี้ ..ก็จะส่งผลถึงการทำงานทั้งหลายไปโดยอัตโนมัติ
ส่วนทางสายกลางในแง่อื่นๆ ก็อย่างเช่น การทำงานร่วมกัน ที่ไม่เน้นที่ผลงานในแง่ตัวเงิน หรือ การทำกำไรเพียงอย่างเดียว
แต่พยายามเข้าใจว่า องค์กรที่จะสร้างผลงานได้ดี อย่างยั่งยืนนั้น ก็คือ องค์กรอยู่ดีมีสุข
ส้มป์ : ค่ะ ..คือประมาณอยู่อย่างสบายๆๆๆ ใช่ป่ะคะ?
พี่กี้ : ไม่เชิง...เราอยู่อย่างมีวินัย
พี่กี้เข้มงวดเรื่องวินัยนะ แต่อยู่อย่างเข้าใจกันและกัน
หมายถึงว่า.. เราไม่เอาประโยชน์เพียงแค่ของร้าน หรือของตนเอง (ตัวสต๊าฟ)
แต่ต้องเป็นประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
....ประเด็นนี้ get ไหม?
ส้มป์ : ค่ะ
พี่กี้ : เช่นว่า.. คุณมีปัญหาในการทำงาน ก็มาคุยกันกับพี่ๆได้เสมอ หรือ
มีปัญหาส่วนตัวทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ที่รับมอบหมายได้ อย่างไร ก็มาพูดกัน
พี่ให้หลักการอยู่ร่วมกันกับทุกคนว่า
"คิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง" แล้วผลงานจะดีเอง
ต่อข้อสามเลยไหม?
--------------------------------------------------------------------------------
ส้มป์ : ความรู้จากวิชาต่างๆที่พี่กี้ได้เรียนมา สามารถนำมาเชื่อมโยงใช้กับเศรษฐกิจพอเพียงได้หรือไม่?
พี่กี้ : ความรู้ทั้งหลายในชีวิตเราล้วนสามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งสิ้นนะ
ที่พี่เรียนวิศวะก็เอามาใช้แก้ปัญหาทางเทคนิค หรือ กระบวนคิดได้เยอะ
ส่วนที่พี่เรียนรู้ในการทำงานกิจกรรมนักศึกษา ก็นำมาใช้ในงานบริหารได้
แต่จะเพียงพอหรือไม่ มันเป็นเรื่องของ หลักคิดในการพิจารณานำความรู้เหล่านั้นไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์
ส้มป์ : ค่ะ
พี่กี้ : พูดง่ายๆ เหมือนเรามี มีดทำครัว เล่มหนึ่ง
จะใช้ทำอาหารก็ได้ หรือ ใช้เป็นอาวุธก็ได้
อยู่ที่เจตนา และ ความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายว่าถูกต้องหรือไม่
ส้มป์ : แล้วยังไงคะพี่?
พี่กี้ : ไอ้ความคิดเห็นที่ถูกต้อง เนี่ย เรียกกันว่า สัมมาทิฎฐิ
ซึ่ง วิธีคิดแบบพอเพียงนี้ก็ถือเป็น สัมมาทิฎฐิ อย่างหนึ่ง นั่นเอง
ความรู้ต่างๆของเรา เป็นเครื่องมือ ของเจ้านายที่ชื่อสัมมาทิฎฐิ
ดังนั้น เราจึงสามารถนำทุกอย่างรอบตัวมาใช้ได้ตลอดอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะที่เรียนมาในห้อง หรือ นอกห้องเรียนก็ตาม
โอเค้?
ส้มป์ : ค่ะเข้าใจแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------
ส้มป์ : พี่กี้ ใช้ คุณธรรมด้านใดบ้าง ในการบริหารงานในร้าน?
(พี่กินข้าว ยังค่ะ)
กินแล้วจ้ะ หนูอ่ะ?
(กินแล้วค่ะ)
พี่กี้ : โอเค ต่อ
...ก็ใช้หลายข้อนะ อย่างเช่น เรื่องการทำงานต่างๆให้สำเร็จ หรือ สนับสนุนให้น้องๆทำงานให้สำเร็จ
เราก็ใช้ อิทธิบาทสี่ นึกออกไหม?
ฉันทะ วิริยะ จิตต วิมังสา

ฉันทะ คือ ความรัก ความชอบในงาน หากใจไม่รัก ไม่ชอบงานบริการหรือดูแลคนก็ทำงานร้านกาแฟไม่ได้ แต่ให้มองละเอียดไปอีก งานโปรเจคท์ต่างๆของร้าน
..สต๊าฟที่จะได้รับมอบงาน ต้องมีแนวโน้มที่จะชอบงานนั้นๆอยู่แล้ว เราจึงค่อยมอบหมายให้ทำ
วิริยะ คือ ความพยายามพากเพียรทำงานให้ลุล่วง ถึงแม้จะเจออุปสรรค ส่วนนี้เจอกันอยู่ทุกวันทุกเรื่องอยู่่่แล้ว
จิตตะ คือ ความเอาใจจดจ่ออยู่ที่งานของเรา หายใจเข้าออกเป็นงานให้ได้
แต่สำหรับสต๊าฟน้องๆ อาจจะขอกันแค่ในเวลางานก็พอใจแล้ว
ส่วนอย่างพี่กี้พี่ปุ๊กนี่ ว่ากันจนเข้านอนน่ะแหละ ......นี่พี่ปุ๊กก็นั่งตอบเมล์ลูกค้าออนไลน์อยู่
วิมังสา คือการคิดใคร่ครวญ อยู่กับงานนั้น ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ หรือควรเพิ่มเติมอะไรไหม

ส่วนการจะทำให้องค์กรงอกงาม เติบโตอย่างมั่นคงก็ใช้
ทิฎฐธรรมมิกกัตถประโยชน์....นี่เป็นคาถาหัวใจเศรษฐี
1. อุฎฐานสัมปทา = คือ การหาเลี้ยงชีพชอบ
คือฉลาดในการทำมาหากิน ทำไงให้ได้รายได้เข้ามาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ให้ต้องขัดสน
2. อารักขสัมปทา = รู้รอบรักษา
หาได้ก็ต้องเก็บให้ได้...ส่วนนี้คือการควบคุมรายจ่าย และการทำให้เงินงอกเงยได้ในทางอื่นๆ
เช่น จัดส่วนเก็บเงินไว้ลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ และบางส่วนก็เป็นเงินออม ...ในบัญชีหรือหน่วยลงทุนต่างๆ
3. กัลยาณมิตตา = คบหาคนดีพี่จะไม่ทำธุรกิจ คบค้ากับคนไม่ดี หรือประเภทหัววอก
ส้มป์: ฮ่าๆๆๆ
พี่กี้ : ถ้ามีประวัติ หรือ ดูจะมีอาการ ก็จะหลีกห่างเลย
4. สมชีวิตา = มีชีวิตพอเพียง
ไม่ใช้จ่ายเกินตัวเกินฐานะ หรือ ถึงขั้นต่ำกว่าฐานะ และ ไม่อยากได้ เกินกว่าที่สมควรจะหาได้
เรียกว่าการควบคุม Demand
.....ซึ่งการควบคุมดีมานด์นี่เป็นหลักแรกของเศรษฐกิจพอเพียงเลยใช่ไหม?

ส่วนเรื่องการปกครอง ก็ต้องมีหลัก "ทศพิธราชธรรม" เป็นหลักของนักปกครอง
..อันนี้ไปหารายละเอียดต่อเองนะ มีสิบข้อ ขี้เกียจเขียนอ่ะ
ส้มป์: ค่ะ
พี่กี้ : และหลักใหญ่ๆอีกอย่างที่พี่พยายามให้คนในร้านเป็นกัน ก็คือ พรหมวิหารสี่ ..
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งเป็นการคิดถึงคนอื่นอย่างจิตเมตตาและอ่อนโยน
--------------------------------------------------------------------------------
ส้มป์ : แนวทางการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ของพี่กี้ มีอะไรบ้าง?
พี่กี้ : ก็คือการสร้างภูิมิคุ้มกันให้ตัวเองใช่ไหม
ส้มป์:ค่ะ
พี่กี้ : เราก็ต้องคิดก่อนว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างเสียก่อน..ซึ่งก็มีแนวโน้มได้ว่า จะเกิดการแข่งขันสูงขึ้นในตลาดกาแฟ
เนื่องจากการพัฒนาของผู้บริโภคที่ "กินเป็น" มากขึ้น และธรรมชาติของตลาดที่ผู้แข่งขันมากราย คำตอบแรกก็คือ ...
"ผู้ที่แข็งแกร่ง คือ ผู้อยู่รอด" ความแข็งแกร่งของเราก็คือ
"คุณภาพ" "ความเชื่อถือ" "ความรู้สึก" (ที่ลูกค้าและสังคมมีต่อเรา)
"คุณภาพ" ก็คือ การพัฒนามาตรฐานของคน ที่ส้มก็คงเห็นว่า มีการสอน สอบ ตรวจสอบ กันอยู่ตลอด..ที่เห็นใน fb ยังน้อยกว่าที่เราทำกันจริงๆมาก
อีกส่วนหนึ่งคือ การควบคุมคุณภาพเมล็ดกาแฟคั่ว โดยการมีโรงคั่วของเราเอง และ เบื้องหลังของโรงคั่ว ก็คือ ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ..
พวกพี่จะหา text book สำคัญๆ จากเมืองนอก มาเสริมความรู้ให้ตนเอง
และอีกส่วนหนึ่ง ก็ได้จากการทำการทดลองในห้องคั่ว ที่เก็บเป็นข้อมูลสถิติ จนเกิดเป็นความรู้ส่วนตัวของเราเอง
"ความเชื่อถือ" เป็นผลมาจากความพยายามในการควบคุมคุณภาพ เป็นระยะเวลานานพอ
จนทำให้ลูกค้าเชื่อใจได้ว่า ..."มาร้านนี้แล้วจะไม่ผิดหวัง" ซึ่งกว่าจะทำไ้ด้ สต๊าฟทุกคนต้องรวมกัน
เทรนด์ทักษะ และพยายามส่งต่อข้อมูลรสชาติเครื่องดื่มของลูกค้าแต่ละคน
ให้ทั่วกันทุกคน
ทำให้ไม่ว่าคนไหนชงก็ตาม ลูกค้าคนนั้น จะได้รับรสชาติเดิมของเขาทุกครั้่ง
อย่างเช่น ส้มป์ กินมอคค่าปั่น เข้ม หวานพอดี เป็นต้นจ้ะ
ส้มป์:ค่ะ
พี่กี้ : Brand เป็นผลรวมของความรู้สึก และความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีให้ อย่างเช่น
..เมื่อพูดถึงร้านโก๋ ก็อาจจะรู้สึกถึงความเป็นเพื่อน ความเป็นธรรมชาติ เสียงหัวเราะ อารมณ์ดี
ซึ่งหากอยากได้ห้องแอร์ ความเป็นวีไอพี หรือสาวสวย ก็ต้องไปหากันที่ร้านอื่น
(555 ด่าลูกน้องตัวเองซะงั้น)
ส้มป์: ฮ่าๆๆๆๆ สต๊าฟที่ร้านน่ารัก..หัวเห็ดทุกคนเลย
พี่กี้ : (พูดมากด้วย)

ส้มป์:ฮ่าๆๆๆๆ
พี่กี้ : ส่วน "ความเชื่อถือ" ก็คือ ระดับความมั่นใจที่มีให้ ว่า ความรู้สึก (ที่กลายเป็นความคาดหวัง) นั้น
จะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อเขามาเยือน หรือ ใช้บริการ รวมแล้วหากเราทำได้ดีทั้งในด้าน
คุณภาพ ความเชื่อถือ และ ความรู้สึก สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นตัวคุ้มกันให้เราอยู่รอดได้ในสนามแข่งขัน

ส่วนปัญหาที่เป็นระดับมาโครกว่านี้ เ่ช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ...
เราคงต้องภาวนาให้ทั้งโลกพร้อมใจกันกว่านี้
แต่ยังไงก็คงต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน ซึ่งท้ายที่สุด หากสิ่งแวดล้อมมันมาถึงจุดวิกฤตอีกระดับหนึ่ง
...ไม่แน่ว่า เราอาจจะต้องเลิกขายกาแฟก็ได้ เพราะไม่มีกาแฟในโลกแล้ว
หรือไม่ มันก็ผลิตได้น้อยลงเสียจนแพงหูฉี่ ก็ต้องยอมรับสภาพกันไป
ส้มป์: แรงเลย
--------------------------------------------------------------------------------
ส้มป์ : การดื่มกาแฟ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่?
พี่กี้ : จะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ อยู่ที่คนกินและคนขาย
กินด้วยความรู้สึกบริโภคนิยม ก็ไม่พอเพียง
ขายด้วยความบริโภคนิยม...ฉาบฉวย ขายเปลือกมากกว่าเนื้อหา ก็ไม่พอเพียง
ซึ่งเรื่องนี้ พี่มองในแง่ของวิธีคิด วิธีรู้สึกของทั้งคนขาย และคนซื้อนะ
ไม่ได้เอาแค่เรื่องระดับราคาเป็นตัววัด
เพราะบางที ตอนที่่ขายกาแฟสดแก้วละ 20 บาท คนขายไม่ได้ทำด้วยระบบคิดพอเพียง
ผลมันก็คือไม่พอเพียง
ส้มป์: แล้วมันจะมาพอเพียงยังไงคะ?
พี่กี้ : พูดง่ายๆคือ ถ้ากระบวนการทำ มันพอเพียง ผลออกมาก็ต้องพอเพียงไง
และถ้าหากกระบวนการกินมันพอเพียง ผลมันก็ต้องพอเพียงอีกเช่นกัน
แล้วพอเพียงคืออะไร?
ก็..พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ไง
เอาเป็นรูปธรรมนิดหน่อยก็ได้ เช่น กาแฟนอกราคาแพงๆ ก็มีขายให้เห็นกันบ้างใช่ไหม?
ผลที่ได้รับเวลาดื่ม อาจไม่เห็นต่างกันเท่าไหร่ว่าอร่อยกว่ากาแฟบ้านเราแค่ไหน
แต่กินแล้วตูเท่ห์ ตูดูดี ดูไฮโซ ...กินแล้วโชว์อวดเขาได้
แต่เงินเดือนรายได้ของตัวก็งั้นๆ ยังต้องเช่าหออยู่
..ถ้าอย่างนี้ก็ไม่พอเพียง
บางทีกาแฟ อาจทำผลให้ชีวิตของคนกิน ขัดสน อับจนอนาคต
เงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็กลายเป็นว่า กาแฟทำลายคน....อย่างนี้ไม่พอเพียง
ส้มป์: ค่ะ
พี่กี้ : มีกรณีทำนองนี้ให้เห็นกันนะ บางคนไม่รู้ตัวว่าค่ากาแฟที่จ่ายไป
หากลดลงมาสักครึ่งหนึ่งก็เป็นเงินเก็บยามฉุกเฉินหรือค่าส่งบ้านได้
ส้มป์: ค่ะ คืออันที่จริง เราไม่กินกาแฟก็ได้??..
พี่กี้ : ใช่แล้ว เราสามารถจะกินหรือไม่กินก็ได้ ซึ่งต้องอยู่บนความรู้ประมาณของตนเอง
อันนี้เป็นหลักคิด ที่ใช้ได้กับการบริโภคสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเสื้อผ้า หน้า ผม
เพราะยังไง เราก็คงต้องมีเสื้อผ้าที่ดูดีกันบ้าง
แต่เอาตามที่สมควร ไม่ใช่่ตามหน้าหนังสือแฟชั่นทุกเล่ม
ส้มป์ : แล้วทำไม ร้านพี่กี้ถึงใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง?
พี่กี้ : เพราะเรา "เชื่อ" พระเจ้าอยู่หัว และ เราก็ "เชื่อ" ด้วยหลักแห่งการเชื่อของพระพุทธเจ้า
ที่เรียกว่า "กาลามสูตร" ด้วย...เคยได้ยินไหม?
ส้มป์: ไม่อ่ะค่ะ
พี่กี้ : กาลามสูตรเป็นหลักแห่งการเชื่อ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ มีใจความสำคัญว่า
...อย่าเชื่ออะไรง่ายๆแม้กระทั่งสิ่งนั้นจะออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง
หรือว่าสิ่งนั้นสอดคล้องกับความเห็นดั้งเดิมของตนที่มีมาก่อนนี้...

แต่จะเชื่อได้ ก็จนกว่าจะได้ตรองหรือทดสอบจนเห็นด้วยปัญญาของตน
ว่าสิ่งนั้นให้ผลดีหรือร้ายจริงตามนั้น
โอเค และทีนี้ พี่ก็เชื่อตามพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยวิถีนี้ เราจะไปได้
...ไม่ต้องเร่งขยายสาขา แต่ ชีวิตมั่นคง
... ถ้าโตได้ ก็จะไม่ล้ม และชีวิตก็มีคุณค่า โดยที่ถึงแม้จะทำธุรกิจ
ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" (Homoeconomicus)
ส้มป์ : ใช้แล้วประสบผลอย่างไร?
พี่กี้ : เราเคารพตนเอง และคนรอบข้าง
ส้มป์: .....?......
พี่กี้ : มันเป็นผลจากการทำงานในลักษณะที่พยายามเข้าใจสิ่งรอบข้าง และเข้าใจตนเองไปพร้อมกัน
โดยไม่มุ่งแต่จะเอาผลเติบโตทางธุรกิจเป็นตัวตั้ง แต่เราค่อยเป็นค่อยไปและเมื่อวิถีมันดี ผลงานดี เราก็เห็นคุณค่าในตัวเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และตนเอง ก็เลยเกิดความเคารพกันและกันขึ้นมา

...สังเกตไหมว่า สต๊าฟที่ร้าน ไม่ใช่่แค่เด็กเสิร์ฟธรรมดา
คือพี่รู้สึกว่าเขา Smart !!
ส้มป์: ใช่ๆๆๆๆ มีแต่คนบอกว่าคัดมา
พี่กี้ : ก็คัดจริงๆน่ะแหละ เราช่วยกันคัดทุกคนเวลามีใครมาสมัคร ทุกคนจะร่วมแชร์ความคิดเห็นด้านต่างๆของผู้ทดลองงาน ก่่อนจะให้พี่กี้ตัดสินใจด่านสุดท้าย
ส้มป์: อืมม แสดงว่าส้มป์ไม่ผ่าน......
พี่กี้ : หือ?..อ๋อ ส้มป์เคยสมัครนี่นา
ส้มป์: ฮ่าๆๆ ใช่
พี่กี้ : คือช่วงนั้นไม่ได้เรียก เพราะดันไม่ขาดคนน่ะ
ส้มป์: 555 ต่องานเราดีกว่า
พี่กี้ : โอเค ก็พอเกิดความเคารพกัน ก็เกิดความสามัคคี มีวินัย ใจมุ่งทางเดียวกัน พัฒนาไปเรื่อยตามธรรมชาติ แล้วก็เป็นผลความพอใจที่ลูกค้าได้รับ ยอดขายก็ดีขึ้นตามควร และขณะเดียวกัน องค์กรก็เริ่มมีความเข้มแข็งของทีมงาน ทั้งด้านศักยภาพส่วนบุคคล และ ทีมเวิร์คก็พร้อมเพื่อเดินหน้าในลักษณะที่เร็วขึ้นได้
ส้มป์: ค่ะ
พี่กี้ : และพี่เชื่ออีกอย่างหนึ่งนะ ...
ร้านโก๋..สามารถเปลี่ยน "ค่านิยม" บางอย่างของสังคมได้
เช่น วัยรุ่นจะเท่ห์ ..ไม่ใช่่เรื่องของทรงผม หรือ มือถือหรอก
ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เจ๋งกว่า
อยากเจ๋ง ไม่จำเป็นต้อง "แร๊งส์" 555 จริงมะ?
ส้มป์: (จริงที่สุด)
--------------------------------------------------------------------------------
ส้มป์: พอใจกับความเป็นร้านกาแฟที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไหม?
พี่กี้ : พอใจในระดับหนึ่ง แต่ที่ฝันไว้ยังต้องดีกว่านี้
แต่หากมองเทียบกับวันที่เริ่มต้น...ก็นับว่ามาได้ไกลกว่าวันนั้นมาก

ส้มป์ : เศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับร้านกาแฟทุกๆร้านหรือไม่
พี่กี้ : เศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับทุกร้านกาแฟจ้า เพราะมันเป็นหลักคิดในการทำงาน บริหาร
และ ตัดสินใจ ดังนั้น ใครจะนำไปใช้ก็ย่้อมดี ใช้ส่วนตัวก็ได้ด้วย
ถึงจะเป็นร้านกาแฟไฮโซ ก็ยังได้

ส้มป์: ค่ะ คำตอบพี่เจ๋งดี
พี่กี้ : ขอบจราย มีคำถามเพิ่มเติมไหมจ๊ะ
ส้มป์: ตอนนี้ยังค่ะ ต้องพรุ่งนี้ ตอนจานถามส้มป์แล้ว ส้มป์ก็จะตอบไม่ได้ ปัญหาจะเริ่มมา
พี่กี้ : จับหลักให้มั่น พอประมาณ มีเหตุผล มีภูิมิคุ้มกัน ถ้าไม่เริ่มจากพอประมาณ ก็จะไม่ใช่พอเพียงเลยในธุรกิจเล็ก ไปจนถึง ร้อยล้านพันล้าน ถ้ามีหลักนี้ ก็เป็นพอเพียงได้หมด

ส้มป์: ออมีๆๆๆ ถ้าที่อื่น ไม่มีโรงคั่ว ก็เกิดความเสี่ยงต่อการด้อยคุณภาพ แล้วที่นี้เขาจะทำไงคะ?
พี่กี้ : ก็แล้วแต่คนสิจ๊ะ เขาอาจจะไปหาโรงคั่วที่เชื่อถือได้อย่างเช่นโรงคั่วปรีดา ที่คั่วตามออเดอร์เท่านั้น และจริงจังเป็นบ้าเป็นหลังในการคั่วให้ดี และเร่งจัดส่ง(โคตรๆ)
55 โฆษณาตัวเองซะ
ส้มป์: ฮ่าๆๆๆ
พี่กี้ : หรือไม่ก็..หากทำไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องจัดการระบบสต๊อกให้ดี ไม่ให้มีกาแฟเก่าตกค้างนานเกินไป ควบคุมในทุกด้านที่ตัวเองพอทำได้

หากมีเป้าที่จะควบคุมคุณภาพ ...ก้อจะมีความพยายามเกิดขึ้นตามมา
ส้มป์: ค่ะ แล้ว..ร้านกาแฟนี่มันล้มละลายได้ไหมคะ?

พี่กี้ : อะไรเหรอ มีร้านกาแฟล้มละลายเหรอ?
ส้มป์: ไม่รู้ค่ะ อาจารย์เค้า จี้มา ..คือวันนั้น ส้มป์ไปเสนออาจารย์ว่าเรื่องเนี้ย ส้มป์พูดถึงเรื่องความเสี่ยง แล้วเขาก็สวนมาว่า ร้านกาแฟลงทุนไม่เยอะ ล้มละลายไม่ได้หรอก
ส้มป์ก็เลย...... ^^.....เงียบ...งง

พี่กี้ : 555 สรุปว่า อาจารย์บอกว่า ร้านกาแฟนี่ไม่มีทางล้มละลายหรอก ใช่ไหม?
ส้มป์: ประมาณนั้นค่ะ
พี่กี้ : ล้มละลายได้จ้ะ
ส้มป์: เอาจิง?
พี่กี้ : อะไรๆก็ล้มละลายได้ทั้งนั้นแหละ ถ้ารายรับต่ำกว่ารายจ่าย อย่างต่อเนื่อง
ส้มป์: อาจารย์เขาบอกว่า ..ร้านกาแฟมันลงทุนไม่เยอะ
พี่กี้ : เยอะหรือไม่เยอะ นี่เทียบกับอะไร? ...
ถ้าคนรวยลงทุนแค่ล้านสองล้านก็ว่าจิ๊บๆ แต่อย่างพี่ก็แทบอ้วก
แล้วคนรวยทำเจ๊ง...ตัวเขาก็ไม่ล้มละลาย
แต่ตัวร้าน ก็ล้ัมละลายโดยตัวมันเองเรียบร้อยไปแล้ว
ล้มละลาย เป็นได้สองแบบคือ
ค่อยๆขาดทุนต่อเนื่องจนไม่เหลือหนทางรอด
หรือไม่ก็ ใช้จ่ายก้อนโตรุนแรงไปเสียจนเงินสำรองไม่พอใช้หมุนเวียน แบบว่า เปิดได้ไม่กี่เดือนก็เงินช็อตซะแล้ว ไม่ทันได้เห็นผลงานเลยว่าคนจะติดหรือเปล่า พอเงินหมุนไม่ทัน ก็ไปต่อไม่ได้ ...ก็ "ล้ม" ได้เหมือนกัน
เรื่องหลังนี่เป็น การบริหารเงิน
เรื่องแรกนี่คือ บริหารตัวธุรกิจไม่เป็น
ส้มป์: ค่ะ
พี่กี้ : โอเค...มีอะไรอีกไหม จะไปอาบน้ำแล้วนะหนู
ส้มป์: ขอบคุณค่ะพี่กี้ ที่อยู่กันจนดึก
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงงงงงงงงงงงงงงงงงง
พี่กี้ : สูงเสียจนงงใช่ไหมนี่ งอ งู เพียบเลย555
ส้มป์: ฮ่าๆๆๆๆๆ เดี๋ยวถ้าจานถามไง งง งง อีก ส้มป์จะไปถามพี่กี้
พี่กี้ : โอเค งั้นไปละนะน้อง
ส้มป์: ค่ะ ฝันดีค่ะพี่
พี่กี้ : บาย
ส้มป์: บายค่ะ

from http://www.oknation.net/blog/roastman/2010/08/05/entry-3


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)