23 กุมภาพันธ์ 2554

ลงทุนให้มีความสุข

มีผู้สอบถามมากมายว่า เคล็ดลับการลงทุนให้มีความสุขคืออะไร ดิฉันขอรวบรวมมาจากประสบการณ์ ทั้งของตัวเองและที่เห็นตัวอย่างจากผู้อื่น

เพื่อนำมาแบ่งปัน หากท่านผู้อ่านมีเคล็ดลับอื่นก็สามารถส่งมาได้นะคะ


การจะลงทุนให้มีความสุขต้อง เริ่มต้นด้วยการออม เพื่อนำเงินมาลงทุน มีมาก ออมมาก มีน้อย ออมน้อย แต่ต้องมีเงินของตัวเองมาลงทุนค่ะ ในการลงทุน ผู้ลงทุนต้องไม่ลงทุนเกินตัว คือ ไม่กู้ยืมมาลงทุน เพราะหากการลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เกิดเหตุพลิกผัน เงินลงทุนก็อาจจะไม่ได้คืน เงินใช้คืนหนี้ก็ไม่มี อย่างนี้ ไม่มีความสุขแน่ๆ


นอกจากนี้ ต้องจัดสรรการลงทุนให้ดี ท่านอาจเคยได้อ่านหรือฟังดิฉันบรรยายเรื่อง “จัดพอร์ตดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เป็นเรื่องจริงค่ะ จากการศึกษาพบว่า พอร์ตการลงทุนที่มีการจัดไว้ดี มีการกระจายการลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน และมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนในแต่ละช่วง จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ผู้ลงทุนพอใจและมีความสุข


ผลตอบแทนส่วนใหญ่ของการลงทุน ส่วนใหญ่ คือ ประมาณ 80-90% มาจากการจัดพอร์ตไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ส่วนการคัดเลือกตราสารหรือหลักทรัพย์ ได้ถูกตัว ถูกเวลานั้น มีสัดส่วนประมาณ 10-20% ในการทำให้ผลตอบแทนดีเพิ่มขึ้น หรือแย่ลง


สำหรับการติดตามผลการลงทุนนั้น แนะนำให้ติดตามเป็นระยะๆ ไม่ควรติดตามใกล้ชิด เป็นรายชั่วโมง หรือแม้กระทั่งรายวัน ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงผู้ที่ลงทุนเป็นอาชีพ หรือมีอาชีพจัดการลงทุนนะคะ ถ้าเป็นสองกลุ่มนี้ อย่างไรเขาก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ต้องรีบวิเคราะห์ว่าจะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มสินทรัพย์ หลักทรัพย์ หรือตราสารแต่ละตัวอย่างไร


การติดตามแต่ไม่ตามติด จะทำให้ผู้ลงทุนไม่กังวลกับการลงทุนมากจนเกินไป และจะทำให้มีความสุขมากขึ้น ดิฉันเองก็เคยค่ะ ตั้งใจว่าจะลงทุน หรือจะขายทำกำไรในวันนั้นๆ แต่เผอิญงานยุ่ง หมดเวลาซื้อขายไป ไม่มีเวลาส่งคำสั่งลงทุน มาเห็นราคาปิดในวันรุ่งขึ้น รู้สึกดีใจที่ไม่มีเวลาส่งคำสั่งในวันก่อน เพราะสั่งซื้อวันนี้ ซื้อได้ราคาถูกกว่า หรือขายได้ราคาสูงกว่าถ้าส่งคำสั่งเมื่อวานนี้ เป็นต้น


การลงทุน นอกจากจะเป็นเรื่องของความรู้ การตัดสินใจ และจังหวะเวลา แล้ว ยังเป็นเรื่องของ “ดวง” หรือโชคชะตา ด้วย บางคนอาจพบว่า ไม่มีดวงทางหุ้น หรือไม่มีดวงทางอสังหาริมทรัพย์เสียเลยจริงๆ หากค้นพบว่า “ดวง” ของเราไม่ถูกกับหลักทรัพย์หรือตราสารนั้นๆ แนะให้แก้ด้วยวิธีลงทุนในกองทุนรวมค่ะ ใช้วิธีไปอาศัยฝีมือของผู้จัดการกองทุน และดวงของผู้ลงทุนคนอื่นๆ รวมกัน อย่างมากดวงของเราก็เพียงทำให้เราเข้า-ออกไม่ถูกจังหวะนิดหน่อย หรือถ้าอยากจะหมดปัญหาเรื่องจังหวะเข้า-ออก แนะนำให้ใช้บริการของกองทุนส่วนบุคคล ให้ผู้จัดการกองทุนเขาหาจังหวะ เข้า-ออก ในการลงทุนให้ด้วย


เทคนิคการลงทุนให้มีความสุขอีกประการหนึ่ง คือ การ “ทำใจ” ค่ะ ไม่ปวดหัวและกังวลใจเกินไปกับการลงทุน และดีใจแต่พอควรเมื่อได้กำไร และไม่เสียใจมากเมื่อขาดทุนเมื่อลงทุนได้ผลตอบแทนมาแล้ว ก็นำผลตอบแทนนั้นมาจัดแบ่ง จะนำไปใช้จ่าย นำไปเที่ยวพักผ่อน หรือจะนำไปลงทุนต่อ รอไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุงาน ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เมื่อลงทุน และความต้องการของเรา เมื่อจัดแบ่งการลงทุนดี เงินลงทุนแต่ละก้อน จะถูกจัดไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน จึงไม่จำเป็นว่าทุกๆ คน ต้องนำกำไรจากการลงทุนไปลงทุนต่อ การจัดสรรเงินกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุน จึงสามารถแบ่งได้หลายลักษณะ


1. นำไปลงทุนต่อ เพื่อให้ความมั่งคั่งพอกพูนขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ยังมีความมั่งคั่งไม่สูง หรือผู้ที่ยังอายุน้อย เพราะควรจะอดเปรี้ยวไว้กินหวานค่ะ


2. แบ่งมาใช้ส่วนหนึ่ง นำไปลงทุนต่ออีกส่วนหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งโดยรวมพอสมควร ส่วนที่แบ่งไปใช้นี้ ดิฉันเรียกว่า เป็นรางวัลที่สามารถให้กับตัวเอง หรือกับคนอื่นๆ ได้อย่างหนึ่ง ส่วนจะแบ่งมาใช้มาก หรือแบ่งลงทุนต่อมาก ก็แล้วแต่สถานการณ์และความจำเป็นค่ะ และการลงทุนต่อนั้นก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์เดิม อาจจัดลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม หรือจัดสัดส่วนใหม่ได้


3. นำผลตอบแทนทั้งหมดมาใช้ ได้กำไรมากก็ใช้มาก ได้กำไรน้อยก็ใช้น้อย ขาดทุนก็รอไปก่อน แบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เกษียณอายุงานแล้ว หรือผู้ที่มีความมั่งคั่งโดยรวมสูง หรือมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว การใช้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้เพื่อตัวเองนะคะ สามารถใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือเพื่อผู้อื่นที่เห็นเหมาะสมได้

เท่านี้ การลงทุนก็มีความสุขแล้วค่ะ อาจจะทั้งสุขกายและสุขใจ

from http://bit.ly/f5KnWS


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)