20 กุมภาพันธ์ 2559

รายการตรวจสอบซุปเปอร์สต็อก โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นึกย้อนหลังไปนาน ๆ ผมรู้สึกว่าผมได้พูดถึงเรื่องของหุ้นที่เป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ค่อนข้างบ่อย เหตุผลก็คงเป็นเพราะว่าผมเน้นลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกและก็มีความเชื่อว่านี่คือหุ้นที่สามารถลงทุนระยะยาวและให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เป็น “หายนะ” ประสบการณ์ของผมก็คือ หุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะโตขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าหุ้นจะ “สะดุด” ไม่ไปไหน บางที 2-3 ปี หรือตกลงมาแรงตามภาวะตลาดหรือเพราะปัญหาของบริษัทเอง การตกลงมานั้นก็มักไม่ถึงกับรุนแรงมากจนรับไม่ไหว แต่เมื่อทุกอย่างกลับมาเป็น “ปกติ” ราคาหุ้นก็กลับขึ้นมาใหม่และสูงกว่าเดิม นี่คือเหตุผลข้อแรก เหตุผลข้อสองก็คือ การเรียนรู้จักซุปเปอร์สต็อกนั้น จะทำให้เรารู้จักหรือเข้าใจวิธีวิเคราะห์ “คุณภาพของกิจการ” ทุกประเภท เพราะซุปเปอร์สต็อกก็คือบริษัทที่มี Business Model ที่ดีสุดยอดในแทบทุกด้าน พูดง่าย ๆ โครงสร้างของธุรกิจและการแข่งขันทางธุรกิจของหุ้นที่เข้าข่ายเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น จะได้เปรียบคู่แข่งและสามารถทำเงินหรือทำกำไรได้ดีต่อเนื่องยาวนานโดยที่คนอื่นไม่สามารถมาทำลายได้ง่าย ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจ เราก็สามารถนำหลักการนั้นมาใช้กับทุกบริษัทได้ บริษัทไหนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับซุปเปอร์สต็อกก็จะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพดี บริษัทไหนที่มีคุณสมบัติห่างก็จะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพแย่ ซึ่งก็จะช่วยให้เรารู้ว่าบริษัทควรมีมูลค่าแค่ไหน

ต่อไปนี้ก็คือ Checklist หรือรายการตรวจสอบว่าหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้นมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง 

ประการแรกก็คือ มันมักเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น Megatrend หรือเป็นบริษัทที่ขายสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือเพิ่มขึ้นเร็วมากจนมีมูลค่าสูงขึ้นมากเทียบกับสถานะปัจจุบัน ซึ่งนั่นก็มักจะเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ “ใหม่” ที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้กันแต่ไม่ใช้สินค้าแฟชั่นที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นสินค้าเกี่ยวกับ IT และอินเตอร์เน็ต บางทีก็เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของอายุประชากรของสังคมที่ “แก่ตัวลง” เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ หรือไม่ก็เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นหรือราคาลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ทำให้คนเข้ามาซื้อมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวเดินทางทางอากาศหรือการกินอาหารภัตตาคาร เป็นต้น

หลังจากผ่านเกณฑ์ข้อแรก เราก็ต้องมาดูว่าในอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้น มีหรือจะมี “ผู้ชนะ” หรือไม่ คำว่าผู้ชนะก็คือ บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่าคู่แข่งระดับรองลงไปมาก คร่าว ๆ อาจจะมากกว่าเท่าตัว เช่น บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด 30% คู่แข่งอันดับรองลงไปมีแค่ 15% หรือต่ำกว่านั้น และโดยทั่วไปแล้วบริษัทก็จะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในอุตสาหกรรม แต่ในบางอุตสาหกรรมนั้น ก็อาจจะมีผู้ชนะมากกว่าหนึ่งราย เช่น มีสองรายที่มีส่วนแบ่งการตลาดพอ ๆ กันและทิ้งห่างอันดับสาม มีอุตสาหกรรมน้อยมากที่มีผู้ชนะเกินสองราย ดังนั้น ซุปเปอร์สต็อกโดยปกติแล้วก็จะต้องไม่เป็นบริษัทหมายเลข 3 ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหมายเลข 1 และแน่นอนว่าในหลาย ๆ อุตสาหกรรมนั้น เราหาผู้ชนะไม่ได้เนื่องจากไม่มีบริษัทไหนที่ใหญ่กว่าคู่แข่งอันดับรองลงไปมาก ๆ ตัวอย่างก็คือ สถาบันการเงินทั้งหลายและบริษัททำบ้านจัดสรรที่ “ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร”

หลังจากเจอผู้ชนะแล้ว สิ่งที่ต้องดูต่อไปก็คือบริษัทจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ข้อแรกก็คือ บริษัทจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Durable Competitive Advantage หรือการได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน นั่นก็คือ บริษัทมีปัจจัยในการแข่งขันหรือการทำธุรกิจบางอย่างที่ทำให้ได้เปรียบคนอื่น และปัจจัยนั้นคู่แข่งหรือคนอื่นไม่สามารถหามาได้หรือได้ก็ยากมาก ปัจจัยที่ว่ามีหลายอย่างเช่น หนึ่ง บริษัทมียี่ห้อสินค้าที่โดดเด่นมากจนคนต้องการซื้อแม้ว่าจะมีราคาแพงมาก เป็น “ซุปเปอร์แบรนด์” เช่น ยี่ห้อแอร์เมส หลุยส์วิตตอง หรือ เฟอรารี่ เป็นต้น หรือสอง บริษัทมีการผลิตที่สูงมากที่ทำให้ต้นทุนถูกกว่าคู่แข่งมากหรือเรียกว่ามี Economies of Scale สูงกว่าคู่แข่งมาก หรือสาม บริษัทมี “เครือข่าย” ของผู้ใช้ที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมาก นี่คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ IT และอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ กูเกิล อูเบอร์ อะเมซอน เป็นต้น หรือสี่ บริษัทที่มี “ต้นทุนของการเลิกใช้บริการสูง” เช่น ธุรกิจโรงพยาบาลที่ลูกค้ามักไม่อยากเปลี่ยนโรงพยาบาลเนื่องจาก “ติดหมอ” ที่รักษากันมานาน หรือห้า บริษัทที่เป็น ผู้ “ผูกขาดโดยธรรมชาติ” เช่น สนามบินที่มักจะมีผู้ให้บริการรายเดียวในท้องถิ่น หรือหก บริษัทที่ควบคุมวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำเช่นในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและแร่ธาตุหายากเช่น ยูเรเนียม และสุดท้าย บริษัทจะต้องไม่ถูกทำลายโดยเทคโนโลยีและ IT ได้ง่ายเช่นพวกหนังสือหรือ CD เป็นต้น

หุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น จะต้องอยู่ในช่วงที่เรียกว่า “Virtuous Cycle” คือเป็นช่วงที่บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะเนื่องจากบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้บริษัทมีต้นทุนที่ถูกลงและมีคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ดีขึ้นซึ่งก็จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอีก เป็นวัฏจักรที่ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้ชนะนั้นจะต้องมีผลประกอบการและฐานะทางการเงินที่ดี โดยข้อแรก จะต้องมีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงเกิน 15% ต่อปีขึ้นไป สอง มีกำไรต่อยอดขายหรือ Profit Margin สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และสามที่น่าจะสำคัญอย่างยิ่งก็คือ บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีหรือเกือบทุกปีติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 6-7 ปีขึ้นไป ยิ่งยาวยิ่งดี ข้อสี่ บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดี อาจจะเนื่องจากเวลาขายสินค้ามักจะได้เงินสดแต่เวลาซื้อสินค้าจ่ายเป็นเงินเชื่อ ข้อห้า บริษัทใช้เงินลงทุนต่ำในการขยายงานและบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งทั้งสองข้อหลังนี้ทำให้บริษัทมีเงินสดสูงซึ่งทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้มาก

สุดท้ายก่อนที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกที่เราจะซื้อก็คือ ราคาหุ้นจะต้องเหมาะสมหรือมีราคาถูก ค่า PE จะต้องไม่เกิน 30 เท่าในกรณีที่เป็นหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีของบริษัทที่กำลังจะเป็นซุปเปอร์สต็อกในด้านของการตลาดแต่ยังไม่มีกำไรเนื่องจากกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เราก็จะต้องดู Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นเทียบกับศักยภาพของตลาดในอนาคต ดูว่ามูลค่าหุ้นนั้นไม่สูงเกินไปซึ่งกรณีนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ง่ายนัก

หลังจากที่ซื้อหุ้นซุปเปอร์สต็อกแล้ว โดยปกติเราก็จะไม่ขายหุ้นนั้นง่าย ๆ ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง เรามักจะไม่มีเป้าหมายราคาที่จะขายหรือเวลาที่จะถือหุ้น ตราบใดที่มันยังเป็นซุปเปอร์สต็อกอยู่เราก็มักจะถือเอาไว้ อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่เราอาจจะขายหุ้นทิ้งเช่น ข้อหนึ่ง หุ้นหมดสภาพความเป็นซุปเปอร์สต็อก อาจจะเพราะมีคู่แข่งที่เหนือกว่าหรือใกล้เคียงที่เข้ามาในตลาดหรือบริษัททำผิดพลาดรุนแรงจนทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการย่ำแย่ลงมาก สอง ตลาดของสินค้าอาจจะเริ่มอิ่มตัว การเติบโตในอนาคตจะช้ามากและอาจจะถดถอยซึ่งจะทำให้หุ้นกลายเป็นหุ้นแข็งแกร่งจ่ายปันผลดีแต่ไม่โต สาม เราอาจจะไปเจอหุ้นซุปเปอร์สต็อกตัวใหม่ที่ดูแล้วมีคุณค่าเหนือราคามากกว่าตัวเดิมที่เราถืออยู่มากแต่เราไม่มีเงินสดที่จะลงทุน เราจึงตัดสินใจขายตัวเก่าเพื่อที่จะลงทุนในตัวใหม่ และสี่ก็คือ ในบางครั้งซึ่งมักไม่เกิดขึ้นบ่อยก็คือ ราคาหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้นขึ้นไปสูงมากเกินพื้นฐานไปมาก เช่น ค่า PE สูงถึง 40-50 เท่า อาจจะเนื่องจากภาวะตลาดหุ้นที่เป็น “ฟองสบู่” หรือมีการเก็งกำไรในตัวหุ้นรุนแรง ในกรณีแบบนี้เราก็อาจจะพิจารณาขายไป

และทั้งหมดนั้นก็คือ Checklist ที่จะบอกและเตือนเราเกี่ยวกับการมองหา ลงทุน และการขายซุปเปอร์สต็อก อย่างไรก็ตาม การลงทุนนั้น “ไม่มีกฎตายตัว” ในทุกขั้นตอนเราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีอะไรที่อาจจะทำให้เราควรละเว้นกฎเกณฑ์เหล่านั้นหรือไม่ด้วย


ที่มา http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=59687

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)