15 สิงหาคม 2553

ปรับพอร์ตรับดอกเบี้ยขาขึ้น

จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เป็น 1.50% ต่อปี เมื่อเดือนที่แล้ว

ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง แม้จะบอบช้ำกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงกลางปีอยู่บ้างก็ตาม

ผู้ลงทุนทั้งหลายก็เริ่มถกแถลงถึงกลยุทธ์การลงทุนเพื่อตั้งรับกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับเพิ่มสูงขึ้น จากการดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ซึ่งเริ่มหวั่นเกรงถึงผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อหลังจากรัฐบาลกลางทั่วโลกต่างทุ่มเทสรรพกำลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตการณ์หนี้

ภาคอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพเมื่อ 3 ปีก่อน
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น จึงขอนำกลวิธีในการปรับพอร์ตการลงทุนด้วยตนเองแบบง่ายๆ มาฝากกันค่ะ

1) แบ่งเงินฝาก/กองทุนรวมตราสารหนี้ให้ทยอยครบอายุ มีคนจำนวนมากมักเข้าใจว่าในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนั้นควรฝากเงินไว้ในเงินฝากระยะสั้นหรือกองทุนรวมตลาดเงินแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อรอลงทุนในตราสารที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น อันที่จริงแล้วการทำเช่นนี้อาจทำให้ผู้ลงทุนเสียโอกาสในการลงทุนได้ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับมักอยู่ในระดับที่ต่ำมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่กำลังถีบตัวสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรใช้วิธีฝากเงิน หรือซื้อกองทุนตราสารหนี้ให้ทยอยครบกำหนดทุกระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 12 เดือน เป็นต้น โดยคำนึงถึงช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินควบคู่ไปด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อเงินฝากหรือกองทุนรวมเหล่านี้ครบอายุ ผู้ลงทุนก็จะมีโอกาสนำเงินที่ครบดังกล่าวไปลงทุนให้ได้รับอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นในอนาคต โดยอัตราผลตอบแทนรวมตลอดระยะเวลาการลงทุนมักอยู่ในระดับที่สูงกว่าการทิ้งเงินไว้ในบัญชีเงินฝากระยะสั้นๆ แต่เพียงอย่างเดียว

2) หลีกเลี่ยงตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่มีความน่าเชื่อถือไม่สูงนัก ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมักเป็นช่วงเวลาที่ผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนถือเป็นโอกาสอันดีในการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อรักษาต้นทุนเงินกู้ของตนไว้ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนเหล่านี้ ผู้ลงทุนควรที่จะให้ความสำคัญกับระดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงไม่สามารถชดเชยกับการสูญเสียเงินต้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ นอกจากนี้ยังควรพิจารณาถึงประวัติการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงความมีธรรมาภิบาลขององค์กรด้วย เพราะหากผู้บริหารองค์กรไม่มีความซื่อสัตย์กับลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ แล้ว ก็ยากที่จะคาดหวังให้องค์กรมีความซื่อสัตย์กับประชาชนทั่วไปที่เป็นเจ้าหนี้ได้

3) หาโอกาส Refinance หนี้ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวขึ้นนั้น หากผู้ที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ในช่วงที่สามารถเลือกกู้เงินก้อนใหม่ในอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ แทนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ก็จะช่วยทำให้ภาระดอกเบี้ยเงินกู้บ้านในอนาคตลดลงได้

4) ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิต สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้น ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯปรับตัวขึ้นนั้น ค่าเงินดอลลาร์มักจะแข็งค่าขึ้นไปด้วย ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในรูปเงินดอลลาร์มีราคาลดลง ซึ่งช่วยให้บริษัทที่ใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทเหล่านี้มีโอกาสสูงขึ้นด้วย ถือเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น

รู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมตรวจเช็คพอร์ตการลงทุน เพื่อเตรียมรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นกันนะคะ

from
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20100815/347982/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2-%E2%80%9C%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E2%80%9D.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)