06 ธันวาคม 2558

เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์บุกพระอารามหลวง...วัดยานนาวา

เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้เขียนถึงเรื่องวัดยานนาวาซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีว่ามีแนวคิดที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ มาวันนี้ (27 พ.ย. 58) ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ไม่เชื่อก็ดูรูปซึ่งถ่ายจากที่ติดตั้งบนดาดฟ้าอาคารที่พักแม่ชีผู้ปฏิบัติธรรม ระบบแผงโซลาร์นี้หากมองจากลานวัดจะไม่เห็นเลย ดังนั้น จึงไม่บดบังทัศนียภาพอันสวยงามของวัดแต่อย่างใด 




พระพรหมวชิรญาณเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ได้แสดงความรู้สึกกับท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ (จากโรงเรียนศรีแสงธรรม) ผู้ออกแบบและประสานงานการติดตั้งว่า“อาตมาคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2518 เมื่อครั้งไปประชุมสมัชชาคณะสงฆ์ไทย ที่สหรัฐอเมริกา แต่ตอนนั้นราคามันแพงมาก ในวันนี้ความฝันของอาตมาเป็นจริงแล้ว”

ระบบที่ติดตั้งครั้งนี้มีขนาด 27 กิโลวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 250 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 1.4 ล้านบาท แผงโซลาร์ยี่ห้อดังแต่เป็นของมือสอง สำหรับอินเวอเตอร์ท่านเจ้าอาวาสเลือกใช้ยี่ห้อดัง (ราคาแพงจำนวน 3 ตัวๆ ละ 108,000 บาท, 3 เฟส) อุปกรณ์ดังกล่าวผ่านการรับรองคุณภาพจากการไฟฟ้าฯ เรียบร้อยครับ เฉลี่ยต้นทุนอยู่ที่ 51,852 บาทต่อกิโลวัตต์

ตามข้อมูลที่รับทราบมา คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 1,492 หน่วยต่อหนึ่งกิโลวัตต์ ดังนั้นคาดว่าโครงการนี้จะผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 3,357 หน่วย หรือวันละ 112 หน่วย แต่จากการทดลองระบบเมื่อวันที่ 27 ซึ่งเป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส พบว่าผลิตได้จริงเพียง 103 หน่วย (ต่ำกว่าเกณฑ์ 9 หน่วย แต่สูงกว่าตัวเลขของทางราชการคือ 100 หน่วย) อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ คาดว่าจะได้มากกว่านี้ เพราะขณะที่ทดสอบพบว่ามีชุดหนึ่งให้ไฟฟ้าได้น้อยกว่าอีก 2 ชุดอย่างชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะว่าการเชื่อมต่อยังไม่สนิทดีพอ ทำให้ไฟฟ้าไหลไม่ดี กำลังตรวจสอบและแก้ไขกันอยู่ครับ

เล่ามาถึงตอนนี้ ผมว่ามีประเด็นที่ควรทำความเข้าใจ 4 ประเด็น คือ (1) จะคุ้มทุนภายในกี่ปี (2) การทำงานของระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างไร (3) อุปสรรคในประเทศไทย (4) จะขยายผลในวงกว้างได้อย่างไร


หนึ่ง จะคุ้มทุนภายในกี่ปี

โดยปกติวัดยานนาวาเสียค่าไฟฟ้าเดือนละเกือบ 4 แสนบาท เนื่องจากวัดเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ค่าไฟฟ้าจึงถูกกว่าบ้านอยู่อาศัย ผมลองใช้โปรแกรมคำนวณค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงพบว่า โดยเฉลี่ยวัดนี้จ่ายค่าไฟฟ้า (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หน่วยละ 3.68 บาท ในขณะที่บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วยจะเสียค่าไฟฟ้าและภาษีเฉลี่ยหน่วยละ 4.50 บาท (ซึ่งถูกที่สุดในรอบ 3-4 ปี คือค่าเอฟทีติดลบ)

โครงการดังกล่าวของวัดยานนาวา หากผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 3,357 หน่วย ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 12,354 บาท ดังนั้น จึงต้องใช้เวลา 113 เดือน หรือประมาณ 9 ปีครึ่งจึงจะคุ้มทุน ทั้งนี้อยู่บนสมมติฐานว่า ค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดไป ไม่คิดดอกเบี้ย และอุปกรณ์ต่างๆ ไม่มีอะไรเสียหายเลย

อนึ่ง อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 25 ปี แต่อายุการใช้งานของอินเวอเตอร์ประมาณ 7-10 ปี ดังนั้น กรณีนี้หรือ “วัดยานนาวาโมเดล” คงจะช่วยให้เรามีความชัดเจนมากขึ้นในการตัดสินใจ

คราวนี้ลองสมมติว่า เราติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ (ไฟ 1 เฟส บนหลังคาบ้าน) ลงทุน 150,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 373 หน่วย ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 1,556 บาท ดังนั้น ต้องใช้เวลา 96 เดือน หรือ 8 ปีจึงจะคุ้มทุน ที่เหลือประมาณ 14 ปีเป็นการใช้ไฟฟ้าฟรีครับ (เผื่อค่าการเปลี่ยนอินเวอเตอร์แล้ว)

หมายเหตุ การคิดคำนวณดังกล่าวไม่ได้รบกวนหรือต้องการให้รัฐบาลชดเชยหรือลดภาษีใดๆ เลย นั่นหมายความว่า กิจการโซลาร์เซลล์สามารถยืนแลกหมัดกับกิจการไฟฟ้าหลักได้เลย แต่อย่าเพิ่งดีใจไป ปัญหาอื่นยังมีอีกเยอะ ค่อยๆ อ่านต่อไปครับ


สอง การทำงานของระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างไร

ผมมีแผนผังแสดงการทำงานของระบบการผลิตไฟฟ้ามาให้ดูด้วย กรุณาอ่านและดูรูปประกอบอย่างช้าๆ ครับ



ไฟฟ้าที่เราผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาจะต้องใช้แสงแดดเป็นตัวผลิต ไม่มีแสงแดดก็ผลิตไม่ได้ ไฟฟ้าที่ได้จะเป็นกระแสตรง แต่อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านส่วนใหญ่เป็นกระแสสลับ ดังนั้นจึงต้องมีตัวแปลงไฟฟ้าให้เป็นกระแสสลับ คือ อินเวอเตอร์ จบปัญหาไปหนึ่งอย่างนะครับ

แต่ยังมีปัญหาที่สองอีก คือ ในเวลากลางวันซึ่งมีแดดผลิตไฟฟ้าได้ แต่คนในบ้านไม่อยู่บ้าน จึงไม่มีการใช้ไฟฟ้า ครั้นเวลาคนกลับเข้าบ้านในตอนค่ำ ดวงอาทิตย์ก็กลับบ้านเขาเหมือนกัน คนจึงไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วจะทำอย่างไรกันดี

ไฟฟ้ามีคุณสมบัติเป็นพลังงานและเหมือนกับสสารทั่วๆ ไป คือต้องการที่อยู่ หรือที่ให้มันได้ทำงานออกแรงขับเคลื่อนสิ่งอื่น ซึ่งเป็นไปตามหลักฟิสิกส์พื้นฐาน ครั้นจะมีที่เก็บไฟฟ้าคือแบตเตอร์รี่ก็ไม่คุ้ม เพราะนอกจากจะแพงและเปลี่ยนบ่อยแล้วยังมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วยซึ่งมนุษย์ยุคนี้ไม่ควรทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าที่เราผลิตได้บนหลังคากับไฟฟ้าที่มาจากสายส่ง (กรุณาดูรูป) ปัญหาที่สองก็จบไปในทันใด เพราะว่าสายส่งของการไฟฟ้าฯ จะทำหน้าที่เป็นแบตเตอร์รี่เสียเอง คือไฟฟ้าที่เราผลิตได้ในตอนกลางวัน (แต่ไม่ได้ใช้)จะไหลเข้าสู่สายส่งไปให้บ้านที่อยู่ใกล้ๆ ใช้ หรือจะเรียกว่าเราเอาไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปฝากไว้ในสายส่ง ในตอนค่ำเราก็เอากลับมาใช้เอง

ทุกครั้งที่ไฟฟ้าไหลออกจากบ้านไปสู่สายส่ง มิเตอร์ไฟฟ้าก็จะหมุนถอยหลัง (ในกรณีที่เป็นจานหมุน) และทุกครั้งที่ไฟฟ้าไหลจากสายส่งไหลเข้าสู่บ้าน (ซึ่งเป็นระบบที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้หากไม่มีการติดโซลาร์เซลล์) มิเตอร์ก็จะหมุนเดินหน้า ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเช่นนี้ทุกวัน เมื่อถึงเวลาจดบันทึกการใช้ไฟฟ้า (เดือนละครั้ง) ตัวเลขสุทธิเป็นเท่าใด ก็จ่ายค่าไฟฟ้ากันไปตามนั้น ระบบที่ว่านี้เรียกว่าระบบ Net Metering ซึ่งนับถึงกลางปี 2014 ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการออกกฎหมายรับรองแล้วถึง 44 รัฐใน 50 รัฐ ส่งผลให้บ้านพักอาศัยมีการติดโซลาร์เซลล์กันมากขึ้น กล่าวคือค่าเฉลี่ยในปี 2014 ทุก 2 นาทีจะมีผู้ติดโซลาร์เซลล์ขนาด 4.5 กิโลวัตต์เพิ่มขึ้น 1 หลัง ในขณะที่เมื่อปีก่อน มีค่าเฉลี่ยนานกว่าคือ 3 นาที

อาจมีผู้สงสัยว่า ระบบดังกล่าวทำงานโดยอัตโนมัติหรือไม่ คำตอบคืออัตโนมัติ ไฟฟ้าก็เหมือนกับน้ำคือไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ ไฟฟ้าก็จะไหลจากที่ซึ่งมีศักดาไฟฟ้า (Voltage) สูงไปสู่ศักดาต่ำ ไฟฟ้าที่เราผลิตเองมีศักดา 240 โวลต์ ในขณะที่ไฟฟ้าจากสายส่ง กว่าจะเข้าบ้านเราศักดาไฟฟ้าประมาณ 220 โวลต์หรือต่ำกว่า

ในกรณีของวัดยานนาวา ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีประมาณ 3% ของไฟฟ้าจากสายส่ง ซึ่งถือว่าน้อยมาก ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมเชื่อว่า ไฟฟ้าที่ทางวัดผลิตได้จะถูกนำมาใช้ก่อนจนหมดในตอนกลางวันนั่นแหละ คงไม่เหลือให้ต้องไปฝากไว้ในระบบสายส่ง (หรือไม่ทำให้จานหมุนถอยหลัง ดังที่ได้อธิบายแล้ว) ไฟฟ้าส่วนที่ไม่พอใช้ก็จะเป็นไฟฟ้าจากระบบสายส่งโดยอัตโนมัติ



สาม อุปสรรคในประเทศไทย

แม้สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ผ่านมติอย่างท่วมท้นให้ใช้ระบบ Net Metering ตามโครงการ “โซลาร์รูฟเสรี” โดยให้มีการชดเชยราคาเพื่อให้เกิดแรงจูงใจพอสมควรแก่ผู้ติดตั้ง แต่ทางรัฐบาลก็ไม่ยอมนำไปปฏิบัติ สร้างความผิดหวังให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนมกราคม 2558 มาถึงวันนี้ ต้นทุนต่างๆ ได้ลดลงไปอีก จากการศึกษาของผมเอง ผมมั่นใจว่า แม้ไม่มีการชดเชยราคา และไม่มีการลดหย่อนทางภาษีเลย เจ้าของบ้านก็ยังมีแรงจูงใจพอที่จะติดตั้ง

ผมอยากจะสรุปปัญหาที่เกิดจากภาครัฐในเรื่องนี้ ดังนี้ครับ

1. ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ได้เปิดโควตาให้ติดตั้งบนหลังคาได้ โดยมีการรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน แต่มีการจำกัดจำนวน (ซึ่งมีจำนวนน้อย คือ 100 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ) นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน จนคนไม่อยากขอใช้บริการ ที่หนักกว่านี้ก็คือ เขารับซื้อแค่ปีละแค่ 1,300 หน่วยต่อหนึ่งกิโลวัตต์ แต่เราผลิตได้ถึง 1,492 หน่วย ที่เหลือเขาก็รับไปฟรีๆ กำไรของผู้ลงทุนก็ปริ่มๆ น้ำอยู่แล้ว จึงเป็นการบั่นทอนความอยากลงไปอีก

2. ในกรณีที่ไม่ประสงค์จะขายไฟฟ้า (เช่น กรณีวัดยานนาวา) ต้องยื่นแบบฟอร์มเพื่อแจ้งให้ กกพ.ทราบพร้อมมีคำรับรองจากวิศวกรไฟฟ้าและวิศวกรโยธาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางเรื่องไฟฟ้าและความแข็งแรงของอาคาร (ซึ่งเป็นบ้านเราเอง เราย่อมรู้ดี) เมื่อผ่านการตรวจอย่างถูกต้องแล้วต้องยื่นต่อการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าภูมิภาค เพื่อตรวจสอบคุณภาพของอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย (ประเด็นนี้มีเหตุผล) เวลาที่ใช้ดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์

ปัญหาของผู้ไม่ประสงค์จะขายไฟฟ้าคือ มีความไม่แน่นอนในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับมิเตอร์วัดไฟฟ้า บางรายพบว่า ทางการไฟฟ้าฯ ได้เปลี่ยนมิเตอร์จากแบบจานหมุนไปเป็นแบบดิจิตอล คือไฟฟ้าที่เราผลิตได้จะไหลไปอยู่ในสายส่งได้ แต่มิเตอร์ไม่สามารถลดตัวเลขมาได้

นั่นหมายความว่า ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ถูกปล่อยไปขายให้เพื่อนบ้านข้างเคียงใช้ได้ แต่เจ้าของบ้านที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้รับเงิน การไฟฟ้าฯ ได้รับเงินไปแทน มันเป็นธรรมไหมครับ?

ถ้าบ้านหลังใดปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอย่างถูกต้อง ตามที่ได้กล่าวแล้วในข้อ (2) เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ โดยที่บ้านหลังนี้ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 400 หน่วย (หรือเดือนละ 1,679 บาท หน่วยละ 4.20 บาท) แต่ถ้าโชคร้ายถูกเปลี่ยนมิเตอร์เป็นระบบดิจิตอล แม้จะผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 373 หน่วย ถ้าใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันๆ ละ 4 หน่วย (เดือนละ 120 หน่วย) ต้องใช้เวลาถึง 25 ปีจึงจะคุ้มทุน ซึ่งถ้าคิดให้ละเอียดก็ไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้เลย

หนทางที่จะคุ้มทุนคือต้องติดให้น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ใช้ แบบเดียวกับกรณีวัดยานนาวา จึงนับว่าน่าเสียโอกาสที่ประชาชนจะสามารถพึ่งตนเองด้านไฟฟ้า(ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง) และจะช่วยกันลดปัญหาโลกร้อนได้ เพราะนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐเท่านั้นเอง

ข้ออ้างของทาง กกพ.มี 2 ข้อ คือ (1) สายส่งเต็ม เรื่องนี้เป็นการหลอกลวงครับ เพราะประเทศเยอรมนีเขาจะให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขายไฟฟ้าได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน พวกถ่านหินขายทีหลัง แต่บ้านเราทำสลับกัน ให้ของสกปรกและรายใหญ่ไปก่อน (2) เกรงว่าจะเกินความสามารถของหม้อแปลงไฟฟ้า เรื่องนี้บริษัทผู้ผลิตได้เผื่อไว้แล้ว 20% ดังนั้น ถ้าไฟฟ้าจากหลังคาของชุมชนเพิ่มขึ้นไม่ถึง 20% หม้อแปลงนี้ก็ไม่มีปัญหา ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเกิน 20% และถ้าเกินจริงก็เปลี่ยนซิ


สี่ จะขยายผลในวงกว้างได้อย่างไร

เท่าที่ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณได้เล่าให้ผมฟัง ทำให้ทราบว่า ทางเถรสมาคมซึ่งพระพรหมวชิรญาณเป็นกรรมการอยู่ ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก และทราบว่าพระอารามหลวงชั้นโทและชั้นเอกอย่างน้อย 2 วัดได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก มีอะไรคืบหน้าผมจะนำมาเล่าครับ

ผมสมมติว่ามีวัดจำนวน 1 พันวัดติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเท่ากับวัดยานนาวา ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้ารวมกันได้ปีละเกือบ 150 ล้านบาท

ระหว่างที่คุยกับท่านพระครูฯ ท่านเล่าว่าเทียนพรรษาของบางวัดเพียง 1 แท่งที่มีการแกะสลักอย่างสวยงาม มีราคาแท่งละกว่า 1 แสนบาท แล้วก็ไม่ได้ใช้งานเลย ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นโซลาร์เซลล์ก็จะดีมากเลย

ขณะนี้ ถือว่าวัดเป็นผู้นำทางปัญญาในด้านนี้ ผมไม่อยากพูดถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่มีมาก แต่น่าเสียดายที่พวกเขาขาดความสนใจ ทั้งๆ ที่มีปัญญาล้นฟ้า


สรุป

ตามที่ผมได้เคยนำเสนอมาแล้วว่า เราควรเอาตัวอย่างดีๆ ของต่างประเทศมาให้คนไทยทราบ วันนี้ผมขอนำเรื่องราวดีๆ ในประเทศอินเดียมาเป็นการสรุปใน 2 ประเด็นคือ (1) ถ่านหินมีราคาแพงขึ้นจนบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าไม่สามารถผลิตจากถ่านหินในราคาที่เคยประมูลไว้ จึงต้องขายเหมืองถ่านหินไป และ (2) รัฐบาลอินเดียกำลังเพิ่มการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก บริษัทที่ขายเหมืองถ่านหินทิ้งๆ ไป จึงหันมาลงทุนในโซลาร์เซลล์แทน ในราคาที่ถูกกว่าในประเทศไทยด้วยซ้ำ รายละเอียดสั้นๆอยู่ในสไลด์ครับ บ้านนี้เมืองนี้ต้องเหนื่อยกันมากกว่าปกติ สิ่งดีๆ จึงจะเกิดได้ ขอบคุณครับ





ที่มา http://goo.gl/e3Ghnq

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)