18 พฤศจิกายน 2553

เล่นกับหุ้น IPO

ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นกระทิง นอกจากหุ้นในตลาดจำนวนมาก จะมีราคาปรับตัวขึ้นไปอย่างหวือหวา

และปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายแล้ว ยังมีหุ้นเข้าจดทะเบียนใหม่ที่เรียกว่าหุ้น IPO (Initial Public Offering) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หุ้น IPO เหล่านั้น หลายๆ ตัว ในวันแรกหรือช่วงแรกๆ ที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น มีราคาปรับขึ้นจากราคาขายหุ้นครั้งแรกสูงมากพร้อมๆ กับปริมาณการซื้อขายที่มโหฬาร หุ้น IPO นั้น น่าสนใจหรือไม่สำหรับ Value Investor เรามาดูกัน

ข้อแรก มองในแง่แรงจูงใจของเจ้าของบริษัทที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่เจ้าของต้องการนั้น นอกจากการระดมเงินเพื่อขยายธุรกิจ และการที่ต้องการลดความเสี่ยงโดยการขายกิจการบางส่วนออกไป เพื่อเอาเงินไปใช้หรือลงทุนอย่างอื่นแล้ว เขาก็ต้องการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเอง และการที่จะเพิ่มความมั่งคั่งได้ก็คือ ต้องการขายหุ้นให้ได้ราคาสูงสุดที่คนจะยอมซื้อได้ การที่จะทำอย่างนั้นได้ เขาก็ต้องทำให้บริษัท "ดู" น่าสนใจและมีอนาคตสดใสมากที่สุด วิธีการทำก็คือ ทำให้เห็นว่าบริษัทมีกำไรดีและ "จะ" เติบโตไปได้อีกมาก เพราะนั่นคือสิ่งที่นักลงทุนต้องการจากการซื้อหุ้น นักลงทุนยินดีที่จะจ่ายเงินสูงเพื่อซื้อ "ผลประกอบการ" และ Growth หรือ "การเจริญเติบโต" ของบริษัท

ประเด็นก็คือ การทำให้บริษัทมีกำไรดี เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากนักโดยเฉพาะถ้าจะทำเพียง 1-2 ปีก่อนเข้าตลาดหุ้น ระบบบัญชีโดยเฉพาะในเมืองไทยนั้น ผมเชื่อว่าสามารถ "เนรมิต" เรื่องนี้ได้ ส่วนในเรื่องของ Growth หรือการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัท ผมก็คิดว่าถ้าจะทำให้เกิดขึ้นหรือทำให้น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายในระยะ 1-2 ปี ก็น่าจะทำได้ง่ายไม่แพ้กันโดยเฉพาะในยามที่คนเล่นหุ้นพร้อมและอยากจะเชื่ออยู่แล้วในยามที่ตลาดหุ้นกำลังบูม

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าหุ้น IPO จะถูกกำหนดราคาขายที่สูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงในยามที่จองหุ้น และเมื่อหุ้นเข้าตลาดแล้วราคาก็อาจจะแพงขึ้นไปอีกทวีคูณเนื่องจากผลของการวางแผนหรือ "แต่งตัว" ให้บริษัท "ดู" มีกำไรดีและมี "อนาคต" ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก

ข้อสอง ในกรณีที่ไม่ได้มีการ "แต่งตัว" มากมายจนผิดเพี้ยนไปจากตัวตนที่แท้จริงของบริษัท สิ่งที่ผมก็ยังกังวลเกี่ยวกับหุ้น IPO ก็คือ Track Record หรือผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา จริงอยู่ หลายบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนาน แต่ส่วนมากแล้ว ผลประกอบการที่ดีของบริษัทมักจะปรากฏสั้นมากอย่างมากเพียง 2-3 ปีก่อนเข้าตลาดหุ้น ดังนั้น ความสม่ำเสมอของผลประกอบการจึงไม่มีและทำให้ผมไม่แน่ใจว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งจริงหรือไม่

ข้อสาม หุ้นเข้าใหม่จำนวนมากมักเป็นหุ้นที่ผลิตและ/หรือขายสินค้าที่เป็นหรือมีคุณสมบัติแบบ Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่หาความแน่นอนของผลประกอบการยากแต่มักมี "จังหวะหรือโอกาสทอง" ในช่วงสั้นๆ ที่วงจรธุรกิจกำลังเป็นขาขึ้น ดังนั้น หุ้นเหล่านี้จึงมักฉวยโอกาสเข้าจดทะเบียนขายหุ้นในยามที่ตลาดเอื้ออำนวย ซึ่งจะทำให้สามารถขายหุ้นได้ราคาและราคาหุ้นสูงขึ้นไปอีกอย่างน้อยในระยะหนึ่งหลังการเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ข้อสี่ หุ้น IPO ส่วนใหญ่นั้นมีขนาดค่อนข้างเล็กและจำนวนหุ้นที่เริ่มเข้ามาซื้อขายหมุนเวียนในตลาดในวันแรกก็มีน้อยมาก บางบริษัทอาจจะมีเพียง 200-300 ล้านบาท หรือในกรณีของบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาด MAI นั้นอาจจะมีเพียง 100-200 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับพอร์ตหรือเม็ดเงินลงทุนของนักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เป็น "ขาใหญ่" ในตลาดหุ้นที่ว่ากันว่ามีพอร์ตเป็นพันๆ ล้านบาทนั้น ก็ถือว่าหุ้น IPO นั้นสามารถที่จะถูก "ปั่น" ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นั่นก็คือ ถ้ามีรายใหญ่ดังกล่าวแม้เพียงรายเดียวต้องการ เขาอาจจะสามารถซื้อหุ้นทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด ซึ่งจะทำให้เขาสามารถ "กำหนด" ราคาหุ้นได้ว่าจะให้หุ้นมีราคาซื้อขายในวันที่เข้าตลาดที่ราคากี่บาทต่อหุ้น ดังนั้น "พื้นฐาน" ของบริษัท จึงแทบจะไม่มีความหมายหรือความสัมพันธ์กับราคาหุ้น

จากประเด็นต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น สำหรับผมแล้ว หุ้น IPO นั้น มักเป็นหุ้นที่ผมจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะถ้าจะถือเพื่อเป็นการลงทุนระยะยาว ราคาขายหุ้นจอง ถ้าไม่ใช่หุ้นรัฐวิสาหกิจผมเชื่อว่าน้อยครั้งที่จะถูกกว่าพื้นฐานตามที่ที่ปรึกษาและผู้รับประกันการจำหน่ายหุ้นอ้าง ผมเชื่อตามคำพูดส่อเสียดที่ว่า IPO แปลว่า It Probably Overpriced หรือ "มันน่าจะมีราคาสูงเกินไป"

หุ้น IPO บางตัวก็อาจจะไม่เป็นอย่างนั้น การที่จะดูว่า IPO ตัวไหนอาจจะเป็นข้อยกเว้นนั้น คงต้องดูในแต่ละประเด็นที่ผมพูดถึง ถ้าดูแล้ว มี "อาการ" หลายๆ อย่างที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่าจะเป็น "มะนาว" นั่นคือ เป็นหุ้นที่ซื้อแล้วมีโอกาสขาดทุน เพราะเป็นหุ้นที่มีการแต่งตัวมาขายอย่างน่าเกลียดเราก็ควรจะหลีกเลี่ยง ที่ยิ่งต้องระวังมากกว่านั้นก็คือ อย่าเข้าไปเล่นหลังจากที่ราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากจากราคา IPO หลังจากที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดแล้ว

ทั้งหมดที่พูดนั้นก็คือเป็นกรณี "โดยทั่วไป" แต่ในยามที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงเปลี่ยวแล้วเราคิดว่าคนกำลัง "เล่น" หุ้น IPO อยู่ และเราเชื่อว่า "ตลาดยังไม่วาย" การจองซื้อหุ้น IPO ก็อาจจะมีโอกาสทำกำไรได้ดี ผมเองก็จองถ้าได้รับ "จัดสรร" มา ผมคงไม่เข้าไปซื้อในวันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขายแน่นอนและคงไม่ซื้อในราคาสูงกว่าราคาจอง ตรงกันข้าม มีโอกาสที่ผมจะขายค่อนข้างเร็ว บางทีอาจจะเป็นวันแรกที่หุ้นเข้าตลาด ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมคำนึงถึงเสมอก็คือ การซื้อหุ้น IPO เป็นเรื่องของการ "เก็งกำไร" ล้วนๆ

from http://bit.ly/a20utX


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)