01 มีนาคม 2553

รู้เท่าทัน “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่”


รู้เท่าทัน “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่”

เป็นเรื่องแปลกอยู่ไม่น้อย (แม้แต่ตัวผมก็ยังแปลกใจ) เพราะอะไรเรื่องราวของ “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่” ถึงไม่เคยสูญพันธุ์ พอเป็นข่าวคึกโครมขึ้นมาที เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดำเนินการ เรื่องก็จะค่อยๆ เงียบๆ กันไป แต่พออีกสักพักก็จะปรากฏเป็นข่าวขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ กับตัวเลขความเสียหายที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสิบเป็นร้อยหรือเป็นพันล้านบาท

สมัยก่อนก็แชร์น้ำมันแม่ชม้อย แม่นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ เสมาฟ้าคราม มาเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ก็กรณี “กรีนแพลนเน็ต” ซึ่งศาลเพิ่งมีคำพิพากษาลงโทษไป รวมถึงล่าสุดกรณีที่เกิดข่าวคึกโครมในทุกรายการข่าวทีวีที่ต้องรอพิสูจน์ตัวเองทางกฎหมายต่อไป

ถ้าเป็นระดับโลกที่ลือลั่นสุดๆ คงหนีไม่พ้นกรณีนายเบอร์นาร์ด มาดอฟฟ์ อดีตประธานตลาดหุ้นแนสแดกของสหรัฐอเมริกา (National Association of Securities Dealers Automated Quotations: NASDAQ) ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หลังจากหลอกลวงว่ากองทุนที่ตัวเองดูแลอยู่นั้นมีผลตอบ แทนมหาศาล แต่ความแตกในภายหลังว่านายมาดอฟฟ์ใช้วิธีนำเงินจากนักลงทุนรายใหม่ไปจ่ายให้แก่นักลงทุนรายเก่า หมุนเงินไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้นำเงินไปลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น

ล่าสุดตอนที่ถูกเอฟบีไอ สหรัฐอเมริกา ดำเนินคดี ตัวเลขความเสียหายมโหฬารถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.67 แสนล้านบาททีเดียว

ถึงแม้จะเคยนำเรื่อง “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่” มาถ่ายทอดไว้บ้าง แต่ในเมื่อเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ในสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเกิดก็ยังเกิดขึ้น ขนาดอดีตประธานของแนสแดกที่ได้รับความน่าเชื่อถือยังลงมาทำเรื่องนี้เสียเอง จึงขอนำเรื่องนี้มาสรุปเป็นข้อๆ อีกครั้ง

ทุกครั้งที่มีผู้ขอให้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างธุรกิจ “ขายตรง” กับ “ธุรโกงแชร์ลูกโซ่” ผมจะมีข้อสังเกตง่ายๆ ดังนี้ครับ

ข้อแรก ธุรกิจขายตรงไม่ใช่การลงทุนทางการเงินที่มี “ผลตอบแทนสูงๆ” กลับคืนอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาธุรโกงแชร์ลูกโซ่มักนำเรื่องนี้มาชักชวนและกล่าวอ้างอยู่เสมอ ที่พบบ่อยๆ คือ พวกนี้จะเรียกเก็บค่าสมัครสูงๆ (ในหลากหลายรูปแบบ) โดยมีเงื่อนไขล่อใจว่าถ้าไปหาผู้สมัครเป็นสมาชิกได้อีกเท่านั้นเท่านี้ราย จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กำหนด (มักจะจูงใจมาก) ยิ่งชวนคนเข้ามามาก ยิ่งมีรายได้มากเป็นหลายเท่าตัว มีข้อสังเกตด้วยว่า พักหลังๆ วิธีแบบนี้ปรากฏให้เห็นทางอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก

ผมเองให้ข้อคิดว่า ถ้าต้องเสียค่าสมัครสูงๆ (ส่วนใหญ่จะบวกสินค้ามาด้วย) ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน พึงระลึกว่า บริษัทขายตรงที่มีจรรยาบรรณจะคืนค่าสมัครกลับคืนในกรณีที่ผู้สมัครทดลองลงมือทำธุรกิจแล้วพบว่า บริษัทขายตรงนั้นๆ ไม่เหมาะกับตัวเอง

สอง ตั้งคำถามว่า “ผลิตภัณฑ์สินค้า” คุณภาพเหมาะสมกับราคาหรือไม่ หรือเป็นสินค้าที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาลอยๆ หรือไม่ และอย่าลืมถามตัวเองว่า ถ้าเป็นคุณคิดจะบริโภคสินค้าตัวนี้ด้วยหรือไม่ ธุรโกงแชร์ลูกโซ่พร้อมจะพลิกแพลงเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายตลอดเวลา ยุคหนึ่งเมื่อคนชักรู้แกวว่า ขายตรงต้องมีสินค้า ไม่ใช่การได้ค่าหัวคิวจากการหาสมาชิก พวกนี้จะหาสินค้ามาบังหน้า หรือแทนที่จะให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินตรงๆ ก็ใช้วิธีมอบเป็นสินค้า โดยอ้างว่าคือรายการส่งเสริมการขาย หรือโปรโมชั่น กว่าจะรู้ตัวก็ถูกเชิดเงินหนีไปแล้ว ต้องยอมรับว่า “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่” จะพยายามสร้าง story ใหม่ๆ เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคที่รู้ไม่เท่าทัน และพลิกแพลงไปได้ตลอดเวลา

ตามกฎหมายขายตรงของไทย (พระราชบัญญัติการขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545) ผู้ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องรับประกันผลิตภัณฑ์และยินดี “คืนเงิน” เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิคืนผลิตภัณฑ์ รวมถึงยอม “รับซื้อสินค้าคืน” จากนักธุรกิจขายตรงเมื่อต้องการยุติการดำเนินธุรกิจภายในเวลาที่กำหนด

สาม อย่าหลงเชื่อเป็นอันขาดว่า “ไม่ต้องขาย” หรือเพียงแค่ไป “ชวนคน” ก็รวยได้ เพราะฉะนั้นใครที่หว่านล้อมว่าภายในเดือนสองเดือนจะมีรายได้เป็นหมื่นเป็นแสน ให้ตั้งข้อสังเกตได้เลยว่า อาจเข้าข่ายธุรโกงอย่างแน่นอน ผู้ที่ประสบความสำเร็จกับธุรกิจขายตรงจะต้องลงมือทำธุรกิจ ค่อยๆ ขายสินค้าและสร้างเครือ ข่ายธุรกิจด้วยการสร้างทีมงานขึ้นมาอย่างจริงจังเท่านั้น

สุดท้าย อย่าให้ “ความอยากมี-อยากได้” เข้ามามีอิทธิพลเหนือ “เหตุผล” เวลาจะตัดสินว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นขายตรงนั้นเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไม่มี “ความโลภ” เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอันขาด ต้องเข้าใจว่าการทำธุรกิจขายตรงไม่ใช่การลงทุนด้านการเงิน แต่ต้องเกิดจากการจำหน่ายสินค้าหรือแนะนำผู้อื่นให้มาร่วม “ขายสินค้า” ไม่ใช่มาช่วยกัน “หาสมาชิก”

ธุรกิจขายตรงจึงเป็นเรื่องของการสะสมความสำเร็จ ไม่มีทางลัดใดๆ รายได้ที่ได้รับจะเป็นผลมาจากการทุ่มเททำงาน ไม่มีธุรกิจขายตรงไหนๆ ช่วยให้ร่ำรวยในระยะเวลาชั่วข้ามคืน เหมือนอย่างที่ “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่” นำมาโอ้อวดอย่างแน่นอน

from http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/preecha/20100301/102489/รู้เท่าทัน-“ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่”.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)