18 พฤศจิกายน 2555

ข้อคิดสำหรับการออมเพื่อเกษียณ


การออมเพื่อการเกษียณอายุงานของประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เดิมในปี 2444 ที่มีเฉพาะข้าราชการเท่านั้นที่จะมีเงินบำเหน็จบำนาญ


หลังเกษียณ สำหรับภาคเอกชนนั้น เริ่มเมื่อมีบริษัทต่างชาติมาตั้งในไทย และบริษัทเหล่านี้ได้มีสวัสดิการด้านสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน โดยเป็นเงินที่บริษัทสมทบให้เมื่อยามเกษียณ


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นการออมเพื่อการเกษียณอายุงาน เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 2530 โดยเป็นภาคสมัครใจ ต้องมีทั้งนายจ้างและลูกจ้างสมัครใจจัดตั้งขึ้น โดยลูกจ้างจะนำส่งเงินสะสม และนายจ้างนำส่งเงินสมทบ โดยรัฐให้แรงจูงใจในด้านภาษี


ส่วนข้าราชการก็มีการพัฒนามาเป็น “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา


สำหรับผู้ต้องการออมเพิ่มเติมจากที่ออมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีการให้ออมเพิ่มได้โดยผ่าน “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” หรือ RMF ตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา หรือ 100 ปีหลังจากมีระบบเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ


วันนี้ดิฉันขอเขียนถึงประเด็นต่างๆที่ชวนคิดพิจารณา สำหรับท่านที่ต้องการออมเพื่อมีเงินใช้หลังการเกษียณอายุงาน


ประเด็นแรกที่พบมากคือ ผู้ออมจำนวนมาก ออมเพียงจำนวนเท่าที่กรมสรรพากรให้สิทธิพิเศษทางภาษีไว้ หรือพูดง่ายๆก็คือ ตั้งแต่ 2% ถึง 15% ของรายได้ต่อปี คงเดาได้นะคะว่า เนื่องจากต้องการเพียงสิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อถามว่า คาดว่าจะเพียงพอที่จะใช้หลังเกษียณหรือไม่ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะตอบว่าไม่ทราบ


การที่ท่านไม่ทราบว่าอนาคตท่านจะมีเงินเพียงพอเพื่อจะใช้หลังการเกษียณหรือไม่ เท่ากับท่านเอาอนาคตไปแขวนไว้กับโชคชะตา และอาจจะกลายเป็นว่า ถ้าอายุสั้นจะถือเป็นการโชคดีไป เพราะมีเงินพอใช้แน่ๆ แต่หากเกิดอายุยืนขึ้นมาจะถือเป็นความโชคร้ายทีเดียว เพราะไม่มีเงินเลี้ยงตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องเศร้าค่ะ


การมีอายุยืน สามารถทำประโยชน์ให้กับโลกได้ถือเป็นเรื่องดี และจะดียิ่งขึ้นถ้าท่านมีเงินเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง


ข้อแนะนำคือ ต้องประมาณการว่า หลังเกษียณ ท่านจะใช้เงินเดือนละเท่าไรจึงจะพอ คิดเป็นค่าเงินปัจจุบัน นี่แหละค่ะ จะได้ง่ายๆ และนำไปคำนวณว่า นับจากวันที่เกษียณท่านจะอยู่ไปอีกกี่ปี หากจะใช้เงินเดือนละเท่านั้น ต้องมีเงินเท่าไร ณ วันเกษียณ และคำนวณว่า เงินที่เก็บออมอยู่ทุกวันนี้ เมื่อถึงวันที่เกษียณจะเติบโตไปเป็นจำนวนเท่าใด และนำตัวเลขสองจำนวนนี้มาเปรียบเทียบกันว่าจะพอหรือไม่ (ตารางการคำนวณแบบง่ายๆ อยู่ในหนังสือ” Money Pro แผนการเงิน แผนชีวิต”)





ประเด็นที่สอง ผู้ออมเงินเพื่อการเกษียณเกินกว่าครึ่ง นำเงินออมไปลงทุนแบบอนุรักษนิยม โดยอาจจะฝากไว้ในธนาคาร ซื้อสลากออมสิน ลงทุนในพันธบัตร หรือหุ้นกู้ หรือเลือกลงทุนในกองทุนตลาดเงิน กองทุนพันธบัตร กองทุนตราสารหนี้ ซึ่งในปัจจุบันให้ผลตอบแทนประมาณ 2.5 ถึง 4% แทบจะไม่ชนะเงินเฟ้อเลย


นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงทุนยังมักจะเป็นกองทุนแบบอนุรักษนิยม คือลงทุนในตราสารคล้ายๆกับที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าเกณฑ์ของกองทุนจะเปิดให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง ซึ่งสามารถเลือกให้มีหลักทรัพย์อื่น เช่น หุ้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนได้


หากเข้าใจเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการรับความเสี่ยงจะทราบว่า ถ้ามีระยะเวลาการลงทุนยาว จะสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เงินที่ออมเพื่อการเกษียณอายุงานในอีก 10 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า จึงเป็นเงินที่สามารถลงทุนแบบเสี่ยงปานกลางถึงเสี่ยงสูงได้


สัดส่วนของหุ้นทุนที่ควรจะลงทุนเพื่อการเกษียณ ควรจะมีขั้นต่ำ 10-15% โดยดิฉันและทีมงานได้เคยทดสอบข้อมูลย้อนหลังแล้วพบว่า ในสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตที่มีการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 15% ในระยะปานกลาง คือเกิน 3 ปีขึ้นไป ผลตอบแทนจะไม่ติดลบค่ะ


เพราะฉะนั้น ผู้ลงทุนไม่ควรกลัวความเสี่ยงจนเกินไป


เป็นที่น่ายินดีว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำลังเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่ได้ระบุว่าจะลงทุนในนโยบายใด จากแต่เดิมให้ลงนโยบายเดิมก่อนที่จะเปิดให้เลือกนโยบายได้เอง หรือหากไม่มีนโยบายเดิม ให้ลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปก็คือนโยบายที่ลงทุนแต่ตราสารหนี้และพันธบัตร เสนอแก้ไขใหม่ให้ลงทุนในนโยบายที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน และหากข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้ จึงไปลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ตามลำดับ


ดิฉันยืนยันค่ะว่า นโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับการออมเพื่อการเกษียณอายุมากที่สุด คือการลงทุนแบบผสม ซึ่งจะมีทั้งตราสารหนี้ พันธบัตร และหุ้น (หรืออาจจะมีทองคำ โภคภัณฑ์ หรืออสังหาริมทรัพย์ปนไปบ้างเล็กน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด)


ดังนั้นจึงอยากเรียนเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนทั้งหลายว่า เมื่อกฎหมายออกบังคับใช้ กรุณาเลือกนโยบายการลงทุนแบบผสมเป็นนโยบายที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน หรือที่เรียกว่าเป็น Default Policy นะคะ เพื่อมิให้สมาชิกกองทุนต้องลำบากต้องมีชีวิตบั้นปลายอยู่ต่อโดยเงินหมดไปก่อน


หากสมาชิกในกองทุนส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยสูง นโยบายที่กำหนดในข้อบังคับกองทุนก็ควรจะเป็นกองทุนผสม ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นทุนเป็นสัดส่วนไม่สูงมาก คืออาจจะไม่เกิน 15%


แต่หากสมาชิกในกองทุนมีอายุเฉลี่ยน้อย นโยบายการลงทุนที่กำหนดในข้อบังคับ อาจกำหนดให้ลงทุนในหุ้นทุนเป็นสัดส่วนไม่เกิน 30% เป็นต้น


สำหรับผู้ออม ในกรณีมีนโยบายให้เลือกหลายนโยบาย ควรเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองค่ะ ไม่ต้องทำตามเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะเลือกนโยบายที่มีความเสี่ยงต่ำลง หรือที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อหวังผลตอบแทนสูงขึ้นก็ตาม


นอกจากนี้ ยังต้องมองภาพรวมของการออมเพื่อการเกษียณอายุงาน ซึ่งรวมถึงส่วนที่ออมเพิ่มเองไม่ว่าจะในรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมทั่วไป หรือลงทุนเองโดยตรง ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมค่ะ


สองประเด็นแล้วนะคะ คือออมน้อยเกินไป และ ลงทุนแบบอนุรักษนิยมเกินไป ทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาจเสี่ยงต่อการที่มีเงินไม่พอเลี้ยงตัวเองแล้ว แต่ถ้าทั้งออมน้อยและเลือกลงทุนแบบไม่ให้เสี่ยงเลย ก็จะยิ่งทำให้เงินเติบโตน้อย เสี่ยงต่อการมีไม่เพียงพอต่อการเกษียณอายุอย่างสุขสบายมากขึ้น


ประเด็นที่สาม คือ การรับเงินเงินงวดๆ ในลักษณะคล้ายเงินบำนาญ ในสมัยก่อนเราไม่สามารถทำได้เลย เมื่ออายุครบเกษียณ ก็ออกจากกองทุนไปพร้อมรับเงินก้อนทั้งหมด ซึ่งคนจำนวนมาก ไม่เข้าใจเรื่องการลงทุน ไม่สามารถลงทุนเองได้ ทำให้เสียโอกาสในการลงทุนไป


ดิฉันจำได้ว่าเคยนำเสนอที่จะจัดการกองทุนหลังเกษียณให้กับ กบข.ไปเมื่อประมาณสิบปีก่อน และเสนอจะจ่ายคืนให้กับสมาชิกเป็นงวดๆ ให้เหมือนกับเงินบำนาญ


มาบัดนี้ การคงเงินอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ และให้สามารถรับเงินเป็นงวดๆ กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว โดยจะมีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ผู้ออมสามารถแสดงเจตนาขอรับเงินเป็นงวดๆ ได้ แต่กำหนดว่าได้เฉพาะผู้ออมที่ออกจากงานโดยมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี ผู้ที่เกษียณก่อนอายุ 55 ปีก็จะไม่มีสิทธิ์นี้ ซึ่งดิฉันเสียดาย


การขอรับเงินเป็นงวดๆ ควรจะทำได้แม้จะเกษียณก่อนอายุ 55 ปีก็ตาม เงินของเขา เขาย่อมมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าจะขอคืนในลักษณะไหน เข้าใจว่าการกำหนดอายุ 55 ปี อาจจะเป็นเพราะกลัวว่าผู้ออมจะออกจากงานตั้งแต่อายุน้อย แล้วขอรับเงินเร็ว เงินอาจจะหมดไปตอนอายุไม่มาก พอชราภาพจริงไม่มีเงิน ก็จะกลายเป็นภาระของรัฐไปอีก ถ้าห่วงเช่นนั้น ก็บังคับว่ากรณีขอรับเป็นงวด หากอายุไม่ถึง 55 ปี ให้จ่ายได้งวดละไม่เกิน 5% ของเงินทั้งหมด แต่หากอายุเกิน 55 ปี จะรับงวดละเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ออม และเสนอว่าหากไม่ระบุว่าจะรับงวดละเท่าใด ให้จ่ายงวดละ 5% จนกว่าผู้ออมจะแจ้งเปลี่ยนเป็นอื่น


จ่ายปีละ 5% โดยมีสมมุติฐานว่า สำหรับคนทั่วไป หากเกษียณอายุ 60 ปี จะได้งวดเงินรวม 20 ปี ซึ่งน่าจะเป็นอายุเฉลี่ยของคนทั่วไปค่ะ


ปัจจุบัน การรับเงินงวดสามารถทำได้กับการประกันชีวิตแบบ annuity ซึ่งก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะให้มีการขายกรมธรรม์ประเภทนี้ได้ คนโสด หรือคนที่ไม่มีทายาท หรือคาดว่าจะไม่มีผู้ดูแล ในยามชราภาพ และไม่แน่ใจว่าเงินที่ออมอยู่จะพอสำหรับเลี้ยงตัวเองไปจนจากไปหรือไม่ ควรจะศึกษาการทำประกันชีวิตแบบนี้ค่ะ ตอนนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่คาดว่าจะมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น


สำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูงอยู่แล้ว คงไม่มีปัญหา จะมีปัญหาก็จะแตกต่างไปคือเป็นเรื่องของการส่งผ่านความมั่งคั่งไปยังรุ่นต่อๆ ไป


ข้อคิดประการที่สี่ คือ ความสามารถในการโอนย้ายกองทุนเพื่อการเกษียณอายุจากกองหนึ่งไปยังอีกกองหนึ่ง จะถือเป็นสุดยอดแห่งนโยบายการส่งเสริมให้คนออมเพื่อการเกษียณอายุงานเลยทีเดียว เช่น หากข้าราชการลาออกจากราชการไปทำงานเอกชน ย่อมอยากจะนำเงินที่ออมไว้ในกองทุน กบข.ไปออมต่อในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือในทางกลับกัน คนที่ทำงานภาคเอกชน หากต้องการย้ายเข้าไปในภาคราชการ ก็สามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปออมต่อในกองทุนบำเหน็จบำนาญได้


นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่เกษียณอายุงานก่อน หรือต้องออกจากงานด้วยเหตุอื่นใด ยังสามารถโอนย้ายจากกองทุน กบข.หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMFได้ ทำให้ไม่ต้องรับเงินที่ออมมาเป็นก้อนใหญ่เมื่อออกจากงาน ทั้งๆ ที่ยังอยากออมต่อ และยังถูกทำโทษให้เสียภาษีเงินได้จากเงินออมก้อนนั้นอีก


ณ ปัจจุบัน ระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุงานในประเทศไทยยังแยกเป็นส่วนๆ และยังไม่สามารถโอนย้ายได้ค่ะ แต่มีแนวคิดที่จะทำ ซึ่งดิฉันเห็นว่าไม่มีอะไรยากเกินกว่าความพยายาม หากได้ทุ่มเททรัพยากรลงไปเพียงพอ และทุกฝ่ายช่วยกันโดยมีจุดมุ่งหมายว่า ต้องการให้คนที่เกษียณอายุงานแล้วมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เราต้องเอื้อให้สามารถโอนย้ายได้ในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ


มิเช่นนั้น หากเกิดวิกฤติขึ้นมาอีกในอนาคต ก็จะมีคนตกงานที่ได้เงินก้อนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่สามารถออมต่อเพื่อเอาไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิตโดยไม่ถูกทำโทษ และ ไม่เอื้อให้มีการย้ายงานจากภาคเอกชนไปอยู่ภาครัฐ ตามที่รัฐต้องการเห็น


ข้อคิดประการที่ห้า คือ ทำอย่างไรจะให้คนเข้าไปอยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุงานให้มากที่สุด ตอนนี้ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่น ผู้ทำการค้าประเภทพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย กลุ่มทำงานอิสระ ไม่สังกัดองค์กร เช่น สถาปนิก นักร้อง นักแสดง นักกีฬาอาชีพ ผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ เช่น แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์ เกษตรกร ฯลฯ ซึ่งรัฐเคยมีนโยบายให้แรงจูงใจในการออมในลักษณะกองทุนการออมแห่งชาติ เข้าใจว่าตอนนี้ยังทบทวนนโยบายอยู่


การดำเนินการในเรื่องการออมเพื่อการเกษียณอายุนี้ ประเทศส่วนใหญ่จะดำเนินการในรูปของ Defined Contribution คือ มีการออมและมีการให้เงินสมทบไม่ว่าจะจากนายจ้าง หรือจากรัฐ โดยเงินออมและเงินสมทบจะถูกนำไปลงทุนโดยผู้ออมต้องรับความเสี่ยงเอง การที่จะรับประกันว่าผู้ออมจะต้องได้ผลตอบแทนแน่นอนในอัตราเท่าใด ซึ่งเปรียบเสมือนการประกันจำนวนเงินที่จะได้ เหมือนระบบบำนาญในสมัยก่อนนั้น ซึ่งประเทศส่วนใหญ่กำลังทยอยเลิก เพราะเป็นภาระของรัฐมากเกินไป และผู้ออมไม่ตระหนักถึงความเสี่ยง และอาจใช้ชีวิตด้วยความประมาทด้วย


ในเรื่องการลงทุน ต้องให้เรียนรู้ด้วยตัวเองจึงจะเก่ง เมื่อเก่งแล้วก็สามารถดูแลตัวเองให้อยู่รอดได้ ต้องเชื่อในความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ค่ะ


หวังว่าบทความทั้งสองตอนนี้จะช่วยจุดประกายให้ท่านผู้อ่านปรับปรุงการออมเพื่อการเกษียณอายุงานของท่านและของคนรอบข้างให้ดีและเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อความสุขสบายหลังเกษียณค่ะ


from
http://goo.gl/UHy4
http://goo.gl/Z9O6x


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)