03 สิงหาคม 2554

รายจ่ายฝ่ายทุน (Capital Expenditure)

ปัญหาในการพิจารณาว่ารายจ่ายใดเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานที่จะตัดจ่ายในปีที่เกิดรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีทีเกิดรายจ่ายนั้นเลย กับรายจ่ายใดเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนที่ต้องตั้งเป็นทรัพย์สิน ยังคงเป็นหัวข้อให้ขบคิดเสมอ แม้รายการหลักๆ ที่ชัดเจนแล้วจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวก็ตาม แต่รายการรายจ่ายบางรายการอาจเป็นปัญหา เช่น รายจ่ายค่าซ่อมแซม บำรุงรักษา รวมทั้งประเด็นดอกเบี้ยจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน จำนวนแค่ไหนที่ต้องนำมารวมเป็นต้นทุนทรัพย์สิน จำนวนแค่ไหนที่สามารถตัดเป็นรายจ่ายในรอบระยะเยเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่ายได้ เป็นต้น จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้


ปุจฉา รายจ่ายฝ่ายทุนหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนแตกต่างจากรายจ่ายในการดำเนินงานอย่างไร

วิสัชนา ประเภทรายจ่ายทั้งสองดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทั้งในทางบัญชีและภาษีอากร ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับรายจ่ายทั้งสองประเภทได้ดังนี้

1. รายจ่ายฝ่ายทุนหรืออันมีลักษณะเป็นการลงทุน (Capital Expenditure) หมายถึง รายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการหรือเพื่อการหารายได้ ซึ่งอาจแบ่งย่อยเป็น
(1) ทรัพย์สินถาวรที่มีรูปร่าง เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
(2) ทรัพย์สินถาวรที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิการเช่า ค่าสัมปทาน ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิทั้งปวง เป็นต้น

2. รายจ่ายในการดำเนินกิจการ หมายถึง รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจอันก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อจ่ายรายจ่ายดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆ หากแต่ใช่สิ้นเปลืองหมดไป เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเครื่องเขียนแบบพิมพ์ เป็นต้น หรือแม้ได้กรรมสิทธิ์มาเป็นทรัพย์สินก็จะมีอายุการใช้งานไม่เกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (12 เดือน) เช่น ไม้กวาด กระดาษชำระ น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น


ปุจฉา รายจ่ายฝ่ายทุนหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนมีคุณสมบัติอย่างไร

วิสัชนา คุณสมบัติของรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน มีดังนี้

1. เป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ (Ownership Principle) ในทรัพย์สินแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ตาม รวมทั้งสิทธิอื่นๆ อาทิ สิทธิการเช่า สิทธิการใช้งานในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งในทางกฎหมายภาษีอากรเรียกว่า “เป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดทุนรอน” แก่กิจการ รวมทั้งรายจ่ายในการต่อเติม ค่าเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์สิน รายจ่ายในการขยายออก และรายจ่ายในการทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นกว่าวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา

2. เป็นทรัพย์สินหรือแม้เป็นรายจ่ายที่จะไม่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ แต่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามหลักประโยชน์ใช้สอย (Benefit Principle) ซึ่งตามหลักการบัญชีกำหนดให้นำมาบันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สิน และตัดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา อันตรงกันกับข้อกำหนดทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรที่ห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงาน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ยอมให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในรูปของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527

3. เป็นรายจ่ายที่มีนัยสำคัญ (Material Principle) กล่าวคือ เป็นรายจ่ายที่มีจำนวนเงินมากเพียงพอที่จะรับรู้เป็นทรัพย์สินของกิจการ เช่น จำนวนเงินที่จะรับรู้เป็นทรัพย์สินต้องมีจำนวนตั้งแต่เท่านั้นเท่านี้ อาทิ ไม่น้อยกว่า 2,000 บาท หรือ 10,000 บาท แล้วแต่กรณี ซึ่งเงื่อนไขหรือคุณสมบัติในประการนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับในทางภาษีอากร

from http://is.gd/RZpKPj


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)