28 สิงหาคม 2554

3 ยักษ์ใหญ่ท้าชน สมรภูมิ "กาแฟสด"


การเข้ามาของสตาร์บัคส์ในไทยเมื่อ 10 ปีก่อน กระตุ้นให้ธุรกิจกาแฟสดตื่นขึ้น ความหอมกรุ่นของมูลค่าตลาดกว่า 6 พันล. ทำเอา 3 ยักษ์ใหญ่อดใจไม่ไหว

ไม่เพียง "มนุษย์เงินเดือน" ที่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ "ร้านกาแฟสด" น่ารักๆ ดีไซน์เก๋เป็นของตัวเอง ตามผลสำรวจที่พบว่าธุรกิจนี้เป็น 1 ใน 5 ธุรกิจในฝันของพวกเขา ตลาดกาแฟสดในไทยที่มีอัตราเติบโตมากกว่า 10% ต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดในปัจจุบันกว่า 6,400 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของมูลค่าตลาดรวมธุรกิจกาแฟที่ 32,000 ล้านบาท ยังกรุ่นกลิ่นหอมตลบอบอวลใจให้เหล่า "ยักษ์ใหญ่" ทุนหนา อยากลิ้มลองตลาดนี้กับเขาบ้าง

อย่างน้อยก็ 3 รายใหญ่ในวงการ ไม่นับพวกที่จดๆ จ้องๆ ที่คาดว่าจะตามมาเป็นพรวน หลังจากนี้

ได้แก่ ปตท.บริษัทพลังงานแห่งชาติของไทย - ซีพี ออลล์ -ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ของซูเปอร์ซีอีโอ ธนินท์ เจียรวนนท์ และทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอะไรต่อมิอะไรมากมายใต้ฟ้าเมืองไทยมากมาย โดยมีธุรกิจน้ำเมาเป็นปฐม

จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟในเมืองไทยมีประวัติยาวนาน กับตำนาน"กาแฟยกล้อ" แบบไทยสไตล์ ร้านกาแฟยังเป็นศูนย์รวมของชุมชนจนถูกเรียกขานว่าเป็น "สภากาแฟ" ทว่าอัตราเติบโตของตลาดในอดีตเป็นไปแบบเนิบๆ จนกระทั่งการเข้ามาของ "สตาร์บัคส์" (Starbucks) ในปี 2540

ที่กลายเป็นการปลุกตลาด พลิกภาพธุรกิจกาแฟสด ! ในเมืองไทยให้ตื่นขึ้นมา อย่างกระฉับกระเฉง

พริษฐ์ อนุกูลธนาการ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการเครือ อโรม่า กรุ๊ป เจ้าของแฟรนไชส์ร้านกาแฟไนน์ตี้-โฟร์ กาแฟชาวดอย และกาแฟโอเค อโรม่ายังเป็นผู้จัดจำหน่ายกาแฟให้ผู้ประกอบการรายย่อย จนถึงรายใหญ่ มีคีออสมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เขายอมรับว่า การเข้ามาของสตาร์บัคส์ จุดประกายให้ธุรกิจกาแฟสดในไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก สวนทางกับการถดถอยของตลาดกาแฟสำเร็จรูป ที่เดิมเคยมีอัตราเติบโตสูงถึงปีละ 20-30%

ปรากฏการณ์ที่ว่านี้นี่เองที่กระตุ้นให้อโรม่า กรุ๊ป ผู้จำหน่ายกาแฟโบราณตราสามสิงห์ 1 ใน 3 แบรนด์ที่คุ้นหูรู้จักกันดีของผู้ค้าขายกาแฟยุคก่อน และคู่แข่งอย่างตรางูเห่า และนกอินทรี ต้องผันตัวเองจากโรงคั่วกาแฟโบราณมาสู่ธุรกิจกาแฟสดคั่วบด และทำแฟรนไชส์กาแฟสดให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ บริการวัตถุดิบ คั่วเมล็ดกาแฟ และจำหน่าย

เริ่มต้นด้วยแฟรนไชส์ไนน์ตี้-โฟร์ คอฟฟี่ แบรนด์พรีเมียมที่คิดขึ้นเพื่อแข่งขันกับสตาร์บัคส์ โดยเฉพาะ !

เขายังเห็นว่า การดื่มกาแฟนอกจากจะกระตุ้นให้สมองตื่นตัวและเพิ่มพลังงานแล้ว กาแฟยังเป็นเครื่องดื่มที่สะท้อน ไลฟ์สไตล์แสดงออกถึงรสนิยม เติมเต็มความสุข ร้านกาแฟคือแหล่งสังสรรค์ พักผ่อน สาเหตุที่ทำให้ร้านกาแฟขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ริมถนนใหญ่ไปจนถึงซอยเล็กซอยน้อย

ปัจจุบันหากเปรียบเทียบส่วนแบ่งการตลาดกาแฟสด อโรม่าถือเป็นผู้นำธุรกิจนี้ในไทย เพราะเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ขายกาแฟและอุปกรณ์ต่อเนื่องจากกาแฟให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่ครอบคลุมไปถึงโรงแรม ภัตตาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ รวมถึงการรับจ้างผลิตกาแฟภายใต้แบรนด์ของลูกค้า

นอกจากนี้ ยังผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจกาแฟสดหลากหลายแบรนด์ ตั้งแต่การคิด วิจัย และทดลองสูตรเฉพาะให้กับลูกค้าแต่ละราย เช่น KFC, Au Pon Pain ,Pizza Hut ,Chester Grill ,UFM ,Tipco, The Mall, Siam Paragon, Kudsan,Yuri,True Coffee,Coffee World แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้ออย่าง Jiffy และ เซเว่น-อีเลฟเว่น

กระทั่งแฟรนไชส์กาแฟสดที่มียอดขายอันดับ 2 ของเมืองไทยอย่าง Amazon ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการ Outsource การจัดการและวัตถุดิบบางส่วนจากอโรม่า แม้จะไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ในแวดวงกาแฟรับรู้กันเป็นอย่างดี โดยอโรม่าจะเข้ามาร่วมคิดค้นสูตร วางระบบการบริหารจัดการครบวงจร เพราะเมื่อแรกเริ่มธุรกิจ ปตท.ไม่ถนัดในธุรกิจนี้

เวลาผ่านไปกว่า 9 ปี นับจากปี 2545 ทำให้ Amazon เริ่มเรียนรู้ระบบด้วยตนเอง ขณะที่แบรนด์ติดตลาดแล้ว ทำให้ปัจจุบัน Amazon มียอดขายสูงสุดเกือบ 500 แก้วต่อวัน ขณะที่สัญญาที่ทำไว้กับอโรม่าจะหมดลงในอีก 2 ปีจากนี้ ปตท.จึงต้องเตรียมตัวบริหารจัดการธุรกิจด้วยตนเองแบบไม่มีพี่เลี้ยง

นับเป็นอีกธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) ที่ดูมีอนาคตมากๆของ ปตท.เพราะมาร์จิน (กำไรต่อหน่วย) ดูดีกว่า น้ำมัน
กับเป้าหมายของกลุ่ม ปตท.ที่จะพาตัวเองไปติดอันดับ 1 ใน 100 บริษัทที่มียอดขายสูงที่สุดในโลกตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน ในปี 2020 ไม่แน่ว่า ปตท.อาจจะใช้วิธีตัดต่อทางพันธุกรรม ด้วยการซื้อกิจการสตาร์บัคส์ในไทยหรือไม่อย่างไร เพื่อต่อยอดความยิ่งใหญ่ในธุรกิจกาแฟสด

นี่เป็นเรื่องโจ๊กที่ผู้บริหาร ปตท.พูดคุยกันแบบขำๆ แต่หลายคนอาจไม่ขำด้วย ไม่แน่ว่าเรื่องโจ๊กอาจจะเป็นจริงสักวัน !

หากย้อนกลับไป ปตท.เคยทำอะไรที่เหนือความคาดหมายมาแล้วหลายเรื่อง อย่างการเสนอตัวเข้าประมูลซื้อกิจการคาร์ฟูร์ เครือข่ายค้าปลีกใหญ่อันดับ 2 ของโลกสัญชาติฝรั่งเศส ที่ต้องการขายทิ้งกิจการในอาเซียน โดย ปตท.ต้องการจะใช้คาร์ฟูร์มาต่อยอดธุรกิจค้าปลีกในไทย ก่อนจะถูกรัฐเบรกจนต้องพับโครงการไปในที่สุด

สายชล แตงแก้ว ผู้จัดการส่วนบริหารธุรกิจบริการยานยนต์ ฝ่ายธุรกิจค้าปลีกในสถานีบริการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บอกว่า ธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจที่มีกำไรน้อยจึงต้องหาธุรกิจอื่นเข้ามาเสริมรายได้จากธุรกิจน้ำมัน โดยปั๊ม ปตท.ถูกวางตำแหน่งให้เป็นปั๊มเติมความสุข จึงพัฒนาให้มีร้านกาแฟ Amazon ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเสริม เพื่อให้ปั๊ม ปตท.เป็น Destination ของคนเดินทาง ดึงดูดให้คนเข้ามาเติมน้ำมัน

โดยปัจจุบันร้านกาแฟ Amazon มีสาขามากถึง 575 แห่ง นับว่าเป็นร้านกาแฟที่เติบโตเร็ว และแรง ทำให้ทีมผู้บริหารเตรียมแผนการพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้ Amazon กลายเป็นแฟรนไชส์ "นอกปั๊ม" เข้าไปตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา และออฟฟิศสำนักงาน

นำร่องไปสู่จุดนั้นด้วยการ "เปิดศูนย์อบรมธุรกิจกาแฟ" (Café Amazon Coaching Academy) บันไดขั้นแรกของการพัฒนาบุคลากรของ Amazon ก่อนที่จะเตรียมแผนพัฒนาธุรกิจ แฟรนไชส์ร้านกาแฟ สร้างมาตรฐานกาแฟแบบฉบับ Amazon

อเนก บัวนาเมือง ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีกในสถานีบริการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บอกว่า จากนี้เหลือเวลาอีก 2 ปีก่อนที่ ปตท.จะหมดสัญญา Outsource กับอโรม่า โดยขณะนี้ ปตท.กำลังวางแผนธุรกิจกาแฟในระยะ 5 ปี ตั้งแต่รูปแบบธุรกิจ เม็ดเงินลงทุน การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การทำ Contact Farming กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในโครงการหลวง และการสร้างโรงคั่วกาแฟที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10-20 ล้านบาท

เขายังเห็นว่า ธุรกิจกาแฟยังถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพจากอัตราการดื่มกาแฟของไทยที่ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และหลายประเทศในยุโรป นอกจากนี้ตลาดที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจนี้คือ "จีน" ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มชามาสู่กาแฟจากการเข้ามาเปิดสาขาของสตาร์บัคส์ในจีน

ยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกอย่างซีพี ออลล์ ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นอีกกลุ่มทุนหนา ที่วางแผนบุกตลาดกาแฟสดในเซเว่นฯ ผ่านบริษัทรีเทลลิงค์ ประเทศไทย ที่ต่อยอดธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์ประกอบอาหารและเครื่องดื่ม (รวมถึงเครื่องทำกาแฟ) มาสู่ธุรกิจจัดหาวัตถุดิบในธุรกิจกาแฟในอนาคต

โดยปัจจุบันเซเว่นฯมีสาขามากถึง 5,790 สาขา ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการดื่มกาแฟให้ผู้บริโภคนอกเหนือจากกาแฟทรีอินวัน และกาแฟกดจากโถ เนื่องจากกาแฟสดเป็นกระแสการบริโภคที่มาแรงในขณะนี้ เครือข่ายสาขาของเซเว่นฯ หลายพันแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ยังกลายเป็นความได้เปรียบในการบุกตลาดกาแฟสด

อีกหนึ่งกลุ่มทุนมาแรงในธุรกิจนี้ คือ ทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ ที่เตรียมตัวรุกธุรกิจกาแฟสด ที่นำบริษัทเทอราโกร จำกัด หนึ่งในบริษัทในกลุ่มบริษัทพรรณธิอร เข้าไปจัดการพื้นที่เพาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าในเมืองปากซอง ตอนใต้ของ สปป.ลาว บนพื้นที่ 15,000 ไร่ โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนในนามบริษัทปากซอง ไฮแลนด์ โดยเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคมปี 2553

โยทัย จาง ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัทปากซอง (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งบริษัทในกลุ่มพรรณธิอร เล่าถึงแผนธุรกิจกาแฟของทีซีซี กรุ๊ป ให้ฟังว่า ผลผลิตกาแฟที่ไร่ในปากซองจะถูกส่งไปขายผ่านเทรดเดอร์ ที่มีเครือข่ายที่กว้างขวางในต่างประเทศ ก่อนจะกระจายไปยังร้านกาแฟร้อนใหญ่ในต่างประเทศ

"เริ่มต้นเราจะส่งออกเมล็ดกาแฟ เพราะเรายังใหม่ในตลาดกาแฟ ถือเป็นช่วงของการศึกษารสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาปรับปรุง ก่อนจะหาโอกาสทำธุรกิจนี้ให้ครบวงจรในอนาคต" เขาเล่า

โดยจะเริ่มจากการทำแฟรนไชส์และทำแบรนด์ ไม่ต่างจากสตาร์บัคส์ ในตลาดญี่ปุ่น หรือประเทศรอบนอก ก่อนจะเข้ามาทำตลาดในไทย เมื่อภาษีนำเข้ากาแฟของอาฟตา (เขตการค้าเสรีอาเซียน) ปรับลดลงอย่างมีผลบังคับใช้ได้จริง คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 3-4 ปีจากนี้ กลายเป็นอีกเหตุผลที่บริษัทฯไม่ส่งออกเมล็ดกาแฟจาก สปป.ลาว มาขายในไทยตอนนี้ เพราะเมื่อกำแพงภาษีนำเข้าสูง ทำให้ราคาขายเมล็ดกาแฟในไทยมีราคาตาม

ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทย ที่นิยมดื่มกาแฟเย็น เติมแต่งรสชาติด้วยนม และน้ำตาล กลบกลิ่นที่แท้จริงของกาแฟ ทำให้กาแฟคุณภาพดีไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการทำตลาดในไทย

โยทัย ยังมองว่า ตลาดโลกยังมีความต้องการกาแฟในปริมาณสูง เห็นได้จากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ความต้องการบริโภคจะพอๆ กับผลผลิต โดยปัจจุบันผลผลิตกาแฟทั่วโลกอยู่ที่ 7 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ทั่วโลกยังปลูกกาแฟได้เพียง 22 ประเทศ ที่อยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร

"ตลาดกาแฟเหมือนมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ แม้จะเป็นผู้เล่นใหม่ที่มีคู่แข่งและเจ้าตลาดอยู่แล้วอย่างสตาร์บัคส์ แต่ธุรกิจนี้ไม่มีทางเดินชนกัน เพราะยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะตลาดแฟรนไชส์ ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไป มีความพิเศษเฉพาะตัวแต่ละแบรนด์"

เมื่อกลุ่มทุนรายใหญ่ เริ่มเข้ามาบุกตลาดกาแฟสด ถามว่า ผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าไปจับจองพื้นที่ในธุรกิจนี้ก่อนแล้วจะอยู่อย่างไร รูปรอยจะเหมือนร้านค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) ที่ถูกค้าปลีกขนาดใหญ่กลืนตลาดหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่น่าคิด แต่อย่าลืมว่าธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจที่ขายไลฟสไตล์ ขายคาแรคเตอร์ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างของร้านกาแฟแต่ละร้าน

ความอยู่รอดจึงอาจไม่จำกัดด้วยขนาดของธุรกิจ อีกต่อไป

พริษฐ์ ยังทัศนะในเรื่องนี้ว่า การเข้ามาของรายใหญ่ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจกาแฟรายกลาง รายเล็ก เพราะรายใหญ่จะได้เปรียบเรื่องเงินทุน แต่เขาเชื่อว่ารายใหญ่จะมีความได้เปรียบไม่มากนัก เพราะธุรกิจนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยฝีมือ ทำเล และอีกหลายๆ อย่าง

สำหรับอโรม่าได้วางกลยุทธ์ จะขยับไปให้น้ำหนักในการซัพพลายวัตถุดิบ ขายเครื่องทำกาแฟให้กับร้านกาแฟ ทำแบรนด์ให้กับร้านกาแฟ ในลักษณะพันธมิตรธุรกิจ ตามความต้องการของลูกค้า ไปพร้อมกับแฟรนไชส์ร้านกาแฟ

โดยจะวางตัวเองเป็นศูนย์กลางการสั่งซื้อเครื่องชงกาแฟ เมล็ดกาแฟ

พริษฐ์ ยังเห็นโอกาสของการผลิตบุคลากร (บาริสต้า) ป้อนให้กับธุรกิจกาแฟสดที่มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรในอนาคต ด้วยการจัดตั้ง สถาบันสอนพัฒนาธุรกิจกาแฟ ส่งเสริมให้คนมีความรู้ความเข้าใจวิธีทำกาแฟ พัฒนาคนเข้าสู่ธุรกิจนี้รองรับจำนวนร้านกาแฟที่เพิ่มมากขึ้น

"ยิ่งถ้าคนส่วนใหญ่สามารถใช้เครื่องทำกาแฟเป็น ไม่เฉพาะเจ้าของหรือบาริสต้าในร้านกาแฟ ก็จะทำให้ตลาดขายเครื่องทำกาแฟเติบโตขึ้นอีกมหาศาล" เขาทิ้งท้าย

from http://is.gd/1b99NL


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)