14 กรกฎาคม 2554

คิดรวย ตามวิถี 'เนเจอร์กิฟ'

จากกำลังการผลิตแค่วันละไม่กี่ซองมาเป็นชม.ละ 2แสนซอง แค่รายได้พอประทังชีวิต ขึ้นแท่นเถ้าแก่พันล้านในเวลาไม่กี่ปี นี่คือวิถีรวยของ"เนเจอร์กิฟ

คงจะจริงอย่างที่ “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสื่อสาร กล่าวไว้ในเวทีเสวนา “เคล็ด (ไม่) ...ลับ สู่ความสำเร็จ SMEs” ตอน ของดี ขายอย่างไรให้รวย โดย บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ว่า...

ธุรกิจใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ 3 H คือ Health ให้ความมีสุขภาพดีแก่คน Hope ให้ความหวังแก่ผู้คน และ Happiness ให้ความสุขทั้งกายและใจ ธุรกิจนั้นก็จะได้รับการขานรับจากตลาด จัดเป็นธุรกิจที่น่าทำไม่ว่าจะยุคไหน พศ.ไหน

การเลือกธุรกิจที่ตอบทั้ง 3 H ตั้งแต่ต้น ทำให้ “เนเจอร์กิฟ” ได้รับการต้อนรับจากตลาด ทว่าแค่โปรดักส์ “เวิร์ค!” หาใช่คำตอบเดียวของความสำเร็จเพียงอย่างเดียว

การขึ้นเวทีร่วมแชร์ประสบการณ์ ของ “ดร. กฤษฎา จ่างใจมนต์” กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เนเจอร์กิฟ 711 พกเอาเรื่องเล่าของการทำธุรกิจที่มี “เลือดนักสู้” อยู่ในดีเอ็นเอ มาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“เนเจอร์กิฟ” คือผลิตผลหลังวิกฤติชีวิต ของ “ดร.กฤษฎา” อดีตเจ้าของเครื่องฟอกอากาศ “แอร์โรคลีน” ที่ธุรกิจเคยรุ่งโรจน์ในยุค 2530-2540 ชนิดมียอดขายเป็นที่หนึ่งในตลาด แต่พอเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ทุกอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากธุรกิจที่เคยรุ่ง กลับร่วง ขนาดที่ต้องขายทิ้งกิจการ พร้อมหนี้ไว้ให้ดูต่างหน้าอีกกว่า 20 ล้านบาท !

ไม่มีธุรกิจ ไม่มีเงิน แต่ยังมีที่ดินอีกกว่า 500 ไร่ที่เขาเคยตั้งใจไว้ว่าจะพัฒนาให้เป็นแบบเหมือนสวนลุมฯ แต่พอเกิดวิกฤติ เมกะโปรเจคต้องล้มพับเป็นพร้อมกับเจ้าของที่ เถ้าแก่นักสู้ เลยผันตัวเองมาสู่วิถีเกษตรกร เสียเลย

“ตอนนั้นผมเองก็มีปัญหา ลูกยังเรียน ขณะที่เราไม่มีธุรกิจแล้ว เลยใช้ที่ดินกว่า 500 ไร่ มาทำเกษตรกรรม เริ่มจากลองปลูกแก้วมังกรขาย แต่รายได้ไม่พอจ่ายค่าดอกเบี้ย มาลองทำปุ๋ยชีวภาพ ร้านค้าก็ไม่รับอีกเพราะเราไม่มียี่ห้อ มาทำอาหารเสริมกุ้ง ก็จบเหมือนกัน เพราะไม่มีชื่อ ลูกค้าไม่ยอมรับ ปี2545 ช่วงนั้นสาหร่ายสไปรูลิน่าประสบความสำเร็จมาก เลยลองมาทำอาหารเสริม แต่พอเราไม่มีแบรนด์ คนก็ไม่กล้าซื้อกิน”

จบข่าว! กับคำสั้นๆ แค่ “ไม่มีแบรนด์” แต่นั่น ก็สอนอะไรเขาได้มาก อย่างน้อยหากจะเริ่มธุรกิจใหม่ก็คงต้องคิดถึงเรื่อง “แบรนด์” เอาไว้แต่ต้น

ในปี 2547 มีคนแนะนำให้เขาทำสินค้าที่เข้าใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น เวลานั้นดร.กฤษฎาไม่ใช่อาเสี่ยแอร์โรคลีนอีกต่อไปแล้ว เงินทุกบาททุกสตางค์สำหรับเขาจึงมีค่า เมื่อต้องมาคิดถึงเรื่องการลงทุนอีกครั้ง เขาบอกว่าอย่างอื่นใช้เงินหลักแสนหลักล้านบาท

มีแต่ “กาแฟ” ที่ลงทุนได้ด้วยเงินเพียง 50,000 บาท

ในภาวะเบี้ยน้อย เขาจึงแปลงโรงรถที่บ้านมาเป็นโรงงานผลิตกาแฟ เริ่มจากทำแค่วันละพันซอง เอาพอปะทังชีวิตในครอบครัว ทำเองขายเอง เพราะหาคนซื้อยาก เพราะเนเจอร์กิฟเป็นกาแฟสุขภาพ กินแล้วไม่อ้วน ขายซองละ12.5 บาท ขณะที่กาแฟซองทั่วๆไปขายกันแค่ 2.5 บาท

ค่อยๆ หาช่องทางขายไปเรื่อยๆ เริ่มจากไปออกงานเกษตรแฟร์ ลงเงินไปกว่า 3 หมื่นบาท หวังว่าคนมางานมากแค่ชงกาแฟขายหน้างานก็น่าจะทำกำไรได้งามแล้ว แต่สุดท้ายฝันสลาย เพราะดันขายแพงกว่าคนอื่น ไม่มีคนซื้อ
บทสรุปหลังงานก็คือ “เจ๊ง!!”

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าตัวเลขขาดทุน กำไร ดร.กฤษฎา บอกว่า คือการมองเห็นโอกาสของตลาด เมื่อเราไปออกงานเป็นเป้าสายตา สื่อก็มาขอสัมภาษณ์เพราะกาแฟกินแล้วไม่อ้วน ถือเป็นของใหม่ในตลาด และนั่นก็ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แม้จะยังไม่สามารถแจ้งเกิด ถ้าไม่เจอช่องทางการจำหน่ายที่บรรเจิด เปลี่ยนอนาคตให้กับ “เนเจอร์กิฟ” กระทั่งกูรูการตลาดอย่าง “ฟิลิป คอตเลอร์” ก็ยังคาดไม่ถึง

นั่นคือ “ข้างเขียงหมู” คิดง่ายๆ คนมาซื้อหมู ก็ซื้อกาแฟลดหุ่นติดมือกลับไปด้วย เพราะอนุมานว่ากินของมันแล้วจะอ้วน

คนอื่นอาจฟังแล้วอมยิ้ม แต่นี่คือสูจิบัตรของแบรนด์เนเจอร์กิฟ เมื่อกระแสนิยมกลับมาพุ่งพรวด จากการบอกปากต่อปาก ขยับขยายการขายจากหน้าเขียงหมูไปสู่ช่องทางการตลาดใหม่ๆ จนปัจจุบันเรียกว่าเจอพวกเขาได้แทบทุกที่ ตั้งแต่หน้าร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น โมเดิร์นเทรด ไปจนถึงตัวแทนจำหน่ายอีกนับหมื่นจุดทั่วประเทศ

พอเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็ตามมาด้วยแนวคิดการโฆษณาแบบ “ลูกทุ่ง” เริ่มจากลงรูปก่อนและหลัง (Before and After) ทานเนเจอร์กิฟในสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะงบน้อย แต่ผลที่ได้กลับสุดคุ้ม เมื่อยอดขายพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว ขายของแพงกว่าชาวบ้านจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคในการขายอีกต่อไป เมื่อผู้คนเริ่มสัมผัสเข้าถึงความแตกต่างของสินค้า

“เราเชื่อว่าสินค้าเรามีคุณภาพ มีนวัตกรรมที่ไม่เหมือนคนอื่น อาจขายแพงกว่าชาวบ้านแต่สิ่งที่ทำให้มันแพงเพราะมีคุณค่าที่เพิ่มเข้าไป คือสารอาหารต่างๆ ที่ไม่สามารถไปหาในราคาแบบนั้นที่ไหนได้ เราไม่ได้ขายกาแฟ แต่ขายอาหารเสริมเพื่อควบคุมน้ำหนัก เพียงแต่มันมีรสชาติกาแฟเท่านั้น”

งบโฆษณก้อนแรกถูกใช้ไปเพียง 7 ล้านบาท แลกกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นมาถึง 500% จากสื่อสิ่งพิมพ์ก็เริ่มเข้าสู่จอตู้และยังคงจัดเต็มกับงบโฆษณาทุกปี ปีละสูงถึง 300 ล้านบาท ยอดขายพุ่ง จนต้องขยายโรงงานเพิ่ม จากโรงรถ นับถึงปัจจุบันพวกเขามีอยู่ 3 โรงงานแล้ว โรงงานล่าสุดลงทุนไปถึง 500 ล้านบาท

จากเงินลงทุน 5 หมื่นบาทในวันเริ่มต้น มูลค่าธุรกิจ “เนเจอร์กิฟ” วันนี้แตะพันล้านบาทแล้ว บทพิสูจน์คนสู้ชีวิตตัวจริงเสียงจริง

“มีคนถามผมว่าเห็น ทำมาตั้งหลายอย่างแต่ ไม่สำเร็จสักอย่าง ผมบอกว่าคุณรู้จัก มร.ฮอนด้า ไหม เขาบอกว่า สิ่งที่เราเห็นที่ว่าเขาประสบความสำเร็จนั้น มันเพียง 5% เท่านั้น แต่ที่เขาเคยล้มเหลวมีถึง 95% เพราฉะนั้นผมจะล้มมาหลายครั้งแต่ผมก็ลุกขึ้นสู้ตลอด เชื่อว่าครั้งนี้ผมมาถูกทางแล้วและจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”

ปิดท้ายกับบทวิเคราะห์ของ “ดร. เสรี วงษ์มณฑา” บอกว่าเนเจอร์กิฟ แจ้งเกิดได้เพราะหาโอกาสในวิกฤติจนเจอ

ประสบความสำเร็จได้เพราะสร้าง “จุดต่าง” แถมยังเป็นความแตกต่างที่ “โดนใจ” ลูกค้า

สิ่งสำคัญคือ มีการสร้างแบรนด์ของตัวเองชัดเจน

“สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักคือ คุณไม่สร้างแบรนด์ไม่ได้ และคำว่าสร้างแบรนด์ ไม่ใช่แค่การตั้งชื่อ แต่มีองค์ประกอบสำคัญคือ ต้องเล่าเรื่องและต้องให้ประสบการณ์ การสร้างแบรดน์ไม่ได้ยากเย็นเลย แค่มีดีต้องเล่า เพื่อให้คนเข้ามาหาประสบการณ์” เท่านี้แหล่ะ ถ้าเราเล่าเรื่องเป็น สร้างประสบการณ์ที่ดีได้ เราก็สร้างแบรนด์ได้”

ทว่าจะเล่าเรื่องแบรนด์ได้ก็ต้องมี “เสาค้ำแบรนด์” กูรูการตลาดท่านนี้บอกว่า คนต้องรู้จักสินค้า ต้องหาซื้อได้ง่าย และมีการปกป้องแบรนด์ตัวเองจากคู่แข่ง ตอกย้ำความเป็นเจ้าแรกในตลาด (First Mover) ของแท้และดั้งเดิม ทั้งหมดนี้คือที่มาของความสำเร็จของ เนเจอร์กิฟ

สู้แบบมวยวัดก็เดินสู่ความสำเร็จได้ ถ้ามีเลือดนักสู้อยู่เต็มสายเลือด
“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””
Key to success
คิดรวย ตามวิถี เนเจอร์กิฟ
๐ หาโอกาสในวิกฤติให้เจอ
๐ สร้างจุดต่างที่โดนใจลูกค้า
๐ สร้างแบรนด์ชัดเจน และต่อเนื่อง
๐ รักษาแบรนด์ไว้ให้ได้
๐ มีเลือดนักสู้อยู่ในดีเอ็นเอ

**********

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20110713/398857/%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A2-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%96%E0%B8%B5-%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%9F.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)