22 กันยายน 2552

ไขความลับ สมอง&ลงทุน หนูดี..วนิษา เรซ

ไขความลับ สมอง&ลงทุน หนูดี..วนิษา เรซ

"สมอง" กับ "การลงทุน"มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เพราะในสมองของคนเรามีหน่วยควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ..

เมื่อใดที่สามารถเอาชนะความกลัว หวาดวิตกกังวลได้ การตัดสินใจลงทุนก็จะ "ผิดพลาด" น้อยลง !!

หน้าที่ของสมองของคนเรานั้น จะรับรู้เร็วมากกับเรื่องความอยู่รอด ความเป็นความตาย ตลอดจนความกลัว วิตกกังวล โดยโครงสร้างการทำงานของสมอง ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ สมองส่วนหน้า (หน้าผากถึงกลางกระหม่อม) ,ส่วนกลาง (ตรงกลางระหว่างกกหู 2 ข้าง) และ ส่วนหลัง (บริเวณท้ายทอย)

สมองทั้งสามส่วน จะทำหน้าที่แตกต่างกันไป

สมองส่วนหน้า จะทำหน้าที่ในการควบคุมการตัดสินใจ สมองส่วนท้าย จะทำหน้าที่รับข้อมูลเข้า และสมองส่วนกลาง ทำหน้าที่ควบอารมณ์ความรู้สึกของคนเราทั้งหมด ซึ่งมีส่วนสำคัญมากเพราะหากเกิดความผิดปกติ สมองอีกสองส่วนจะไม่สามารถทำงานได้

ที่สำคัญสมองส่วนกลางนี้ จะมีผลโดยตรงต่อการ "ตัดสินใจ" ลงทุนของคนเรา อีกด้วย

"หนูดี".. วนิษา เรซ เจ้าของหนังสือ "อัจริยะ สร้างสุข" ที่กำลังติดอันดับหนังสือขายดีขณะนี้ และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คนแรกของไทย บอกว่า สมองกับการลงทุน จะมีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะในสมองของเราจะมีหน่วยสมองที่ "ควบคุมอารมณ์" หลายแห่ง เช่น ระบบลิมบิก (Limbic Sytem) จะคอยทำหน้าที่รับรู้และประเมินสถานการณ์ต่างๆ

ซึ่งบริเวณนี้จะเรียกว่า "อะมิกดาลา" (Amygdala) เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการประเมินข้อมูลจากประสาทรับรู้ต่างๆ ของสมองบริเวณ "คอร์ติคัล คอร์เท็ก" (Cortical cortex) กับการแสดงออกด้านพฤติกรรมของอารมณ์ต่างๆ

นอกจากนี้ อะมิกดาลา ยังมีส่วนสำคัญในการรับรู้สิ่งที่เป็นอันตราย กระตุ้นให้ร่างกายมีการตื่นตัว พร้อมที่จะตัดสินใจรับมือต่อสิ่งนั้น หรือ เรียกว่า "อะมิกดาลา ไฮแจ็ค"

"อะมิกดาลา เป็นพื้นที่ขนาดเท่าเมล็ดอัลมอนด์ ฝังอยู่บริเวณซีรีบรัม เชื่อมต่อกับไฮโปธารามัส ซึ่งสมองตรงอะมิกดาลา จะทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมเหตุผลและอารมณ์ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอะมิกดาลาจะทำหน้าที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพื่อเอาตัวรอดจากความกลัว ด้วยการใช้สัญชาตญาณ ทำให้การตัดสินใจไม่แม่นยำ

ในขณะที่สมองส่วนหน้า จะทำหน้าที่ตัดสินใจอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน มีอารมณ์เชิงบวกและมีเวลาในการตัดสินใจที่ยาวกว่า ส่วนสมองส่วนท้าย จะคอยรับข้อมูลเข้า เท่านั้น "

ปกติแล้วระบบอารมณ์จะมี 2 ระบบ คือ อารมณ์ความนึกคิด (Emotion) ที่เป็นอารมณ์พื้นฐานของคนเรา เช่น โกรธ กลัว รังเกียจ แปลกใจ ดีใจ และเสียใจ จะสัมพันธ์กับการทำงานของระบบลิมบิก (limbic system) ในสมองส่วนกลาง ซึ่งเกี่ยวโยงกับการทำงานของสมองส่วนหน้าบริเวณ prefrontal มาเกี่ยวข้องด้วย จึงทำให้คนเรามีลักษณะอารมณ์ความรู้สึกที่หลายหลากมากกว่าในสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนม

ขณะที่อารมณ์ความรู้สึก (Feeling) เช่น อารมณ์หงุดหงิด เป็นต้น

"เรื่องสมองกับการลงทุน จึงเป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยง หากเราไม่เข้าใจการลงทุนอย่างดีพอ ก็จะทำให้เกิดความกลัวการขาดทุน ไม่กล้าลงทุน กลัวล้มเหลว กลัวลงทุนผิดพลาด ทุกครั้งที่ตัดสินใจด้วยความกลัว จึงทำให้ผู้ลงทุนใช้สมองไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราสามารถบริหารความกลัวได้ โดยการหาความรู้และข้อมูลที่เพียงพอ ก็จะทำให้การตัดสินใจลงทุนไม่ผิดพลาด"

เฉกเช่น การลงทุนของหนูดี เธอบอกว่า ปัจจุบันยังไม่กล้าเข้าลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น แต่อยู่ระหว่างการพยายามเรียนรู้เรื่องการลงทุน และร่วมเข้าฟังสัมมนา ซึ่งทำมาได้ 2 ปีกว่าแล้ว เพื่อทำให้ตัวเองมีความรู้เพียงพอ จากนั้นจึงจะค่อยลงทุนด้วยเงินที่ก้อนใหญ่ขึ้น และกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น

"ช่วงชีวิตที่ผ่านมา หนูดีไม่เคยบริหารเงินเองเลย เหมือนเด็กไทยทั่วไปที่แม่ให้เงินใช้ และได้ทุนเรียน ขณะที่ "หนูหวาน" น้องสาว ใช้เงินเป็นและบริหารเงินได้เก่งมาก ไม่ว่าจะกินข้าว จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงต่อสัปดาห์ เรื่องเกี่ยวกับเรื่องเงินทั้งหมด หนูหวานจะเป็นคนจัดการให้หนูดีทุกอย่าง ตรงนี้จึงทำให้หนูดี ไม่รู้จักการบริหารเงินด้วยตัวเอง"

หนูดี เล่าว่า จุดประกายที่ทำให้เธอคิดได้ เมื่อวันที่เรียนจบปริญญาโท เพราะมหวิทยาลัยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน-ลงทุนมาบรรยายและให้แนวทาง การบริหารเงินแก่นักศึกษาจบใหม่ เพื่อจะได้รู้จักการประเมินมูลค่าของตัวเองเมื่อต้องไปสมัครงาน และผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากบริษัทผู้ว่าจ้าง เช่น หากคนที่จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ควรได้ค่าตัวเท่าไหร่ , Benefit ที่ควรจะได้ มีอะไรบ้าง เช่น ประกันสุขภาพ ประกันฟัน ซึ่งผู้จบใหม่ต้องรู้ว่า ควรจะต่อรองกับผู้ว่าจ้างอย่างไร ตลอดจนการบริหารเงิน หลังจากที่มีรายได้

"เช่น เมื่อได้เงินเดือนมาก้อนแรก ควรจะนำไปทำอะไรบ้าง โดยเขาแนะนำให้นำไปลงทุนเลย เช่น ถ้าเราเริ่มลงทุนตั้งปีแรกที่ทำงาน เมื่อผ่านไป 10ปี จะได้เงิน 10 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้เราเห็นภาพการจัดการเงินชัดเจนขึ้น จึงทำให้คิดว่า หนูดีจะใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้อีกต่อไปแล้ว"

สำหรับหลักการบริหารเงินของหนูดีขณะนี้ เมื่อได้เงินก้อนต่อเดือนมา หนูดีจะดูเรื่องค่าใช้จ่ายกับรายได้ โดยเมื่อหาเงินมาได้ต้องให้มากกว่าใช้จ่ายเสมอ และเน้นอยู่แบบพอเพียง ไม่ใช้เงินเกินที่หามาได้

"อย่างรายได้ 1 ปี เท่ากับ 100 หนูดีจะใช้จ่ายไม่เกิน 15-20% ของรายได้ ส่วนที่เหลือ 70-80% จะนำไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นฝากประจำ ลงทุนอสังหา พันธบัตรรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ลงทุนในทองคำและหุ้น แต่คิดว่าใน 2-3เดือนข้างหน้านี้ คิดว่าจะเข้าสู่ตลาดหุ้นบ้าง เพราะพอจะเปลี่ยนแปลงการลงทุนในจุดที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้น"

แต่ในปัจจุบัน เธอบอกว่า ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาการลงทุนส่วนตัวมาคอยให้คำแนะนำการลงทุนด้วย ซึ่งอาจจะใช้วิธีเปิดพอร์ตกองทุนส่วนบุคคลเป็นของตัวเอง

หนูดี บอกว่า พอร์ตการลงทุนตอนนี้ จะเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐ หุ้นกู้ เงินฝากประจำ ตั๋วแลกเงิน กองทุนอาร์เอ็มเอฟ แอลทีเอฟ แต่สัดส่วนเงินลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในเงินสด

ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ผ่านมา เธอบอกว่า นอนหลับสบายดี แต่ไม่อิ่มนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนที่ได้ราว 5-6%ต่อปี ถือว่าให้ความสุขมาก ใช้ได้แล้ว

"เหตุที่หนูดีขี้กลัวความเสี่ยง เพราะไม่ได้ถูกฝึกให้ลงทุนมาก่อน จึงมุ่งแต่การเรียนและท่องเที่ยวมากกว่า จึงทำให้เป็นค่อนข้างกลัวความเสี่ยง จึงยังไม่เก่งพอที่จะเข้าลงทุนในอะไรที่เสี่ยงสูง แต่ปัจจุบันหนูดี จะเป็นคนหาข้อมูลการลงทุนด้วยตัวเองทั้งหมด ถ้าหากบริษัทใดมีผลิตภัณฑ์ที่ดี ก็จะเข้าไปหาทันที"

ส่วนเป้าหมายในการลงทุนของหนูดี..

เธอบอกว่า ไม่ได้แค่คิดว่าจะลงทุนแล้วได้เท่าไหร่ เหลือเงินเท่าไหร่ แต่จะต่อยอดไปถึงส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินด้วย เช่น ให้เงินแม่ ทำมูลนิธิ และนำเงินไปช่วยเหลือลูกอุปถัมถ์ที่ตอนนี้มีอยู่ 8 คน ตลอดจนเป็นเจ้าภาพจัดปฎิบัติธรรมปีละครั้ง ซึ่งก็จะเชิญคนมาพูดและผู้ปฏิบัติธรรมอีก 100 คนมาร่วม โดยปิดรีสอร์ท เลี้ยงอาหาร จากนั้นจะนำเงินทั้งหมดที่ได้ไปถวายวัดทั้งหมด

"เป้าหมายการลงทุนจะมองไปที่การเป็นอิสระทางการเงินและอิสระภาพทางใจ อิสระทางการเงิน ก็คือ ทำงานได้โดยไม่จองจำและเงินที่ได้มาเหลือก็นำมาลงทุนและท่องเที่ยว

อิสระทางใจ คือ มีความสุข ไม่ถูกกดดัน เพราะคนรวยหลายคนมีเงิน แต่ยังมีทุกข์ ไม่มีเหตุผลที่จะมีเงินมากมายไปทำไม หนูดีจึงแบ่งสัดส่วนอิสระทางการเงินและใจออกเป็น 80 ต่อ 20"

หนูดี ย้ำว่า อิสระการเงินจึงไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่อิสระทางการเงินต้องต่อยอดมีอิสระทางใจด้วย

เธอยกคำพูดของนักการเงิน.. "ซูซี่ ออลแมน" ที่บอกว่า "การลงทุนได้เงินไม่ใช่ทั้งหมด แต่ต้องมีอิสระทางใจด้วย ไม่เช่นนั้น ทั้งหมดที่ทำมาจะมีค่าเป็นศูนย์ "

ความลับของสมอง..มีผลต่อการบริหารเงินลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างเงินทอง หากเรารู้จักบริหารความเสี่ยงเป็น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น ซึ่งเราควรลงทุนมากที่สุด ก็คือ การดูแลสมองของเราให้มี "คุณภาพ" อยู่เสมอๆ ด้วย

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20090919/77824/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87&%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%B5..%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%8B.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)