26 มกราคม 2554

อิเกีย! ดักปีทอง..อสังหา

"อิเกีย" เร่งเครื่องเปิดให้บริการในปลายปี เป็น "ไฮ ซีซัน" ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ แต่ทว่ามาพร้อมกับกลิ่น "ฟองสบู่" อสังหาฯ

การย้ายฐานของบิ๊กคอร์ปอเรทระดับโลกมายังไทย เริ่มมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมากับการเข้ามาของ "อิเกีย" (IKEA) เมกะสโตร์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านระดับโลก สัญชาติสวีดิส ในชื่อโครงการ "เมกา บางนา" (Mega Bangna) โดยยึดพื้นที่ 254 ไร่ ติดถนนบางนาตราด กม.9 เป็นฐานที่มั่น มีแผนจะเปิดให้บริการในปลายปีนี้ (3 พ.ย.54)

ล่าสุดกับการผุดโครงการ "ไทย-ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักส์ ซิตี้ " คอมเพล็กซ์ยักษ์ที่เตรียมเปิดเป็นศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์แสดงสินค้าของกลุ่มทุนจีน (อาซือม่า กรุ๊ป) บนพื้นที่มากถึง 5 แสนตารางเมตรในเฟสแรก ไม่นับการขยายการลงทุนในพื้นที่มากถึง 2 ล้านตารางเมตร หรือ 200 ไร่ (รวม 3 เฟส) ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 45,000 ล้านบาท โดยจะเปิดให้บริการเฟสแรกในปลายปี 2555

ความเหมือนกันของทั้ง 2 เมกะโปรเจค คือ เมื่อโครงการแล้วเสร็จต่างเป็น "คอมเพล็กซ์" ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ขณะที่ระยะห่างของโครงการแค่เหยียบคันเร่ง เพียง "1 กิโลเมตร"

ถนนบางนาตราด จึงกลายเป็นพื้นที่เนื้อหอม เพราะอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ สะดวกในเรื่องโลจิสติกส์ และต่อไปถนนเส้นนี้จะทวีเพิ่มความคึกคักไม่น้อย ถ้า 2 โปรเจคยักษ์นี้ผุดขึ้น

ขณะที่โปรดักท์ที่จัดจำหน่ายต่างเน้นกลุ่มผู้บริโภคในระดับแมส (ราคาพอรับได้ สบายกระเป๋า) นอกจากความต้องการเข้ามาปักธงดักผู้บริโภคคนไทยแล้ว ยังต้องการแสวงหาโอกาสจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ความตกลงแรกมีผลแล้ว ส่วนความตกลงที่ 2 กำลังจะมีผลในปี 2558 หรืออีกในไม่กี่ปีจากนี้ ตามขนาดประชากรที่เพิ่มขึ้น

ยังมีความเชื่อว่า อีกหลาย "บิ๊ก" โปรเจคระดับโลก กำลังแห่เข้ามาลงทุนในไทย ที่ค่อนข้างเปิดกว้างในการลงทุน

ทว่า ข้อกังวลตามมา คือ ผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หรือปรับตัวอย่างไรก็ยังรับมือยาก เพราะไม่สามารถต้านทานขนาดบิ๊กไซส์ของทุนเหล่านี้ที่จะเข้ามาเทกระจาดทุ่มตลาดโปรดักท์ในไทย และใช้ไทยเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอาเซียน ตามประโยชน์ของความตกลงเร่งลดภาษีระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกันเอง

โดยเฉพาะการ "บอกชัดๆ" ของผู้บริหารอิเกียว่า ที่ต้องการ "ฉวย" โอกาสที่ใครต่อใครบอกว่า ปีนี้จะเป็น "ปีทอง" ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลุย "ขอ" ส่วนแบ่งการตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในไทย หลังจากแบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) เอ็นจอยท์ตลาดมานาน กันบ้าง

ลาร์ส สเวนส์สัน (Lars Svensson) รองผู้จัดการคลังสินค้า อิเกีย ไทยแลนด์ บอกว่า ในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้เขาเห็นด้วยกับใครต่อใครที่ว่า "ปีทอง" ของวงการอสังหาริมทรัพย์กำลังจะกลับมา คนจะหันมาซื้อที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมกันมากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นการกระตุ้นยอดขายสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ที่ผู้คนน่าจะเริ่มคำนึงสินค้าคุ้มค่ากับพื้นที่ใช้สอย (Value for Money) มากขึ้น ภายใต้แบรนด์ที่เข้มแข็งของ "อิเกีย" เขามั่นใจ

"ก่อนหน้านี้เราเปิดโชว์รูมในสิงคโปร์ และมาเลเซีย พบว่ามีลูกค้าจากไทยเข้าไปสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงพอจะคาดเดาได้ว่าลูกค้าที่เป็นแฟนตัวจริงในแบรนด์อิเกียในไทยมีอยู่ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว"

การเปิดให้บริการของอิเกียในปลายปีนี้ จึงพอเหมาะพอเจาะกับแผนการซื้อของเข้าบ้านหลังการโอน ที่มักกระหน่ำซื้อกันในช่วงปลายปี !

ปรากฏการณ์เข้ามาของกลุ่มทุนยักษ์เทศ ไม่พ้นสายตาของนักวิชาการด้านอสังหาฯอย่าง "มานพ พงศทัต" อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเขาเตือนว่า ผู้ประกอบการไทยจะต้องจับตาและเตรียมพร้อมต่อปรากฏการณ์ "รุกคืบ" ของยักษ์ข้ามชาติในหลายธุรกิจ ที่จะทำให้การแข่งขันในธุรกิจนั้นปรับตัวสูงขึ้น และไม่แน่ว่าธุรกิจไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันมากพอหรือไม่

ทว่า หากพิจารณาเป็นรายสาขา เช่น เกษตร อุตสาหกรรม ยานยนต์และชิ้นส่วน และภาคบริการ ถือว่าผู้ประกอบการไทยยังสามารถแข่งขันได้ไทยยังแข่งขันได้ แต่หากมองใน "บางสาขา" อาจจะต้องจับตาเป็นรายตลาด

โดยเฉพาะในสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน กับการเข้ามาของอิเกียที่มี "ทุนหนา" กว่า ซึ่งอาจจะเป็นบทสะท้อนว่าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในตลาดแมส (สินค้า DIY - Do It Yourself) สำหรับคอนโดมิเนียม อาจจะต้องถูกแย่งตลาดในเซ็กเมนท์นี้ เพราะสินค้าของอิเกีย เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในคอนโดมิเนียมระดับกลางล่าง ซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่าการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่มีระดับของรายได้ไม่มากนัก

"การตัดสินใจเข้ามาลงทุนของอิเกีย มองว่าอาจจะเกิดจากตลาดคอนโดที่เติบโตอย่างมากในช่วงต้นปี 2553 เป็นโอกาสทำให้เฟอร์นิเจอร์ขายดีขึ้น นอกจากนี้น่าจะเป็นเป้าหมายของบริษัทแม่ของอิเกียในต่างประเทศที่ต้องการที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์และมาเลเซีย"

มานพ ยังบอกว่า การสร้างบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดที่กำลังคึกคักอยู่ในเวลานี้ว่า ขอให้ระวังและจับตาถึงโอกาสที่จะเกิด "ฟองสบู่" ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจจะเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายในปลายปี ประกอบกันราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับซัพพลายในตลาด

ในปัจจุบันก็เริ่มเห็นความผิดปกติของคอนโดที่เพิ่มมากขึ้น บางคอนโดจึงเริ่มออกแคมเปญจูงใจลูกค้าด้วยการทำโปรโมชั่น อยู่ก่อนฟรี 1 ปี หรือดอกเบี้ย 0% เข้าอยู่ได้ทันทีหลังจอง

"ปลายปีจะเห็นโอเวอร์ซัพพลายมากขึ้น โดยเฉพาะคอนโด เมื่อคอนโดสร้างเสร็จ ก็ต้องมีการสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็ขายดี แต่เก็บเงินได้ไหม ตอบว่า ยาก" เขาเตือน

มานพ ยังบอกด้วยว่า กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ไทยหลีกเลี่ยงกระแสเงินทุนไหลเข้าได้ยาก ทุนยักษ์ไม่เข้ามาวันนี้ก็ต้องเข้ามาในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอยู่ดี สิ่งที่จะทำได้คือการ "เตรียมพร้อม" รับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะมองเป็น "วิกฤติ" แล้ว จะต้องมองเป็น "โอกาส" ให้กับผู้ประกอบการบางรายที่จะต่อยอดกับการมาของทุนยักษ์เหล่านี้

ด้าน เลิศมงคล วราเวณุชย์ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เล่าถึง ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2554 ว่า จะเติบโตขึ้นสอดคล้องกันกับจีดีพีที่คาดว่าจะโตประมาณ 3.5-4.5% ตลาดที่น่าจะเติบโตเป็นพิเศษคือ กลุ่มอาคารชุดและคอนโด ถือว่ามีการขยายตัวอย่างสูงกว่ากลุ่มบ้านเดี่ยว เนื่องจากความต้องการคอนโดตามแนวรถไฟฟ้ามีมากขึ้น

"วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่วัยทำงาน เมื่อเริ่มมีเงินก็เริ่มมองหาคอนโด เพื่อซื้อเป็นเจ้าของก่อน จากนั้นจึงซื้อบ้านเมื่อมีครอบครัว ขณะเดียวกันบางทำเลจะมีคอนโดขึ้นมามากจนซัพพลายเกินดีมานด์ แต่ไม่หมายถึงภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์" เขาย้ำ

เขายังบอกว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนจากหลากอาชีพเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ไม่เฉพาะทุนไทยยังมีทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนโครงการใหญ่คือจีน และสวีเดน (อิเกีย) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความน่าสนใจและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในอุตสาหกรรมนี้

ขณะที่การปรับตัวของผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์โลคอลแบรนด์ในไทยใน 2 แบรนด์หลักที่น่ากังวล ภายใต้แบรนด์ "อินเด็กซ์ และเอสบี" นั้น ก่อนหน้านี้พวกเขาให้ข่าวไปแล้วถึงแผนเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น ล่าสุดกับความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมของอินเด็กซ์ คือการใส่เงิน 2,500 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาเพิ่มอีก 2 แห่ง โดยเฉพาะสาขาถนนราชพฤกษ์ ที่จะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ของปีนี้ "ดัก" ลูกค้าก่อนการเปิดการให้บริการของอิเกียในปลายปี

ด้านความเคลื่อนไหวของแบรนด์เอส.บี จะเน้นไปที่การพัฒนาแบรนด์ให้เข้มแข็งรองรับการแข่งขันที่ดุเดือด พร้อมกับการดึงเทรนด์ของตกแต่งบ้านสไตล์โมเดิร์นจากต่างประเทศเข้ามาในไทยเพื่อทำตลาดค้าปลีกแบบซื้อมาขายไป และเกาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการบริการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบริการหลังการขาย โดยมีมัณฑนากรช่วยออกแบบตกแต่งภายใน และดีไซน์ในรูป 3 มิติ สร้างความแตกต่างจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพรีเมียม เอสบียังเน้นตั้งโชว์รูมใกล้บ้าน ต่างจากอิเกียที่สาขาจะตั้งอยู่บนไฮเวย์

ขณะที่แบรนด์น้องใหม่ อย่าง ชิค รีพับบลิค ภายใต้การนำของอดีตผู้บริหารจากอินเด็กซ์ที่แยกออกมาคลอดแบรนด์ใหม่ โดยเน้นตลาดโมเดิร์นเทรด กิจจา ปัทมาสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิค รีพับบลิค บอกว่า การมาของอิเกีย ไม่ส่งผลต่อชิค รีพลับบลิค เพราะจับคนละเซ็กเมนท์กับอิเกีย โดยเแบรนด์ของเขาจะเป็นกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์พรีเมียม ที่มีความคลาสสิกผสมกับวินเทจเล็กๆ มีกลิ่นอายของความทันสมัยและง่ายขึ้นในการผลิตเพราะลดรายละเอียดบางอย่างลง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มบ้านเดี่ยวและคอนโดในกลุ่มคนมีกำลังซื้อ

"เราเชื่อว่าเรากับอิเกียคนละเซ็กเมนท์ จึงเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบ เพราะอิเกียเป็นเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์น ขณะที่ชิค เป็นเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิกและวินเทจ"

ไพบูลย์ พินิตกาญจนพันธุ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย มองว่า ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ตลาดในไทยถือเป็นตลาดปราบเซียน ซึ่งแม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว แต่ในพฤติกรรมของการบริโภคและการตกแต่งบ้านนั้น อิเกียยังต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจตลาดเมืองไทยอีกมาก

อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่า อิเกียก็ยังมีความน่ากลัวในแง่ของความเป็นยักษ์ใหญ่และทุนหนา ที่ง่ายต่อการเปิดสาขา และใช้ทุนในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ต่างๆ จึงยังมองไม่ชัดเจนว่า ผู้แข่งขันที่จะได้รับผลกระทบจากการมาของอิเกียมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้จากการหารือกันในสมาคมฯและแวดวงเฟอร์นิเจอร์ ประเมินกันว่าอิเกียอยู่ระหว่างเข้ามาศึกษา และหาซัพพลายเออร์ประมาณ 5-6 ราย ที่จะสามารถผลิตสินค้าได้ตรงกันกับความต้องการของผู้บริโภคในไทยที่มีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป

"คนไทยค่อนข้างมีพฤติกรรมการใช้เฟอร์นิเจอร์แตกต่างจากชาติอื่น คนไทยใช้ตู้เสื้อผ้าในแบบตู้ไม้ใหญ่ ขณะที่คนต่างประเทศ ที่อิเกียเข้าไปเปิดใช้ลิ้นชักเป็นชั้นๆ แทนตู้เสื้อผ้า

นอกจากนี้ยังไม่แน่ใจว่า พฤติกรรมการที่ให้ผู้บริโภคเข้ามาเลือกสินค้าและมาขนสินค้าไปเองนั้นจะตรงกับความต้องการผู้บริโภคคนไทยมากน้อยแค่ไหน ต่างจากผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในไทยหลายรายให้บริการด้านการออกแบบพร้อมบริการติดตั้งประกอบให้กับลูกค้า แต่อิเกียกลับต้องขนเป็นกล่องกลับไปประกอบเองและขนเอง" ไพบูลย์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯได้หารือเรื่องการเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงรูปแบบ ดีไซน์ ราคา เนื่องจากที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น จึงต้องพยายามหาแหล่งวัตถุดิบใหม่พร้อมปรับปรุงรูปแบบ เพื่อไม่ให้ลูกค้าต่อรองราคามากนัก

๐ ขอเป็นหนึ่งใน...ตัวเลือก

พลันที่อิเกีย แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มีสาขากระจายไปกว่า 308 สาขาใน 38 ประเทศทั่วโลก ขยับเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมกับกลยุทธ์เฉพาะตัวที่เน้นสินค้าถูกและมีคุณภาพ ดีไซน์ที่เหมาะกับการใช้งาน โดนใจชีวิตคนเมืองส่วนใหญ่ที่อ่อนไหวต่อราคา ทำให้ผู้เล่นหน้าเดิมเริ่มหวั่นไหว

ขนาดของอิเกียในไทยยังติด 1 ใน 5 โชว์รูมที่ใหญ่ที่สุด เทียบเท่ากันกับอิเกียใน 5 ประเทศที่มียอดขายสูงสุด โดยมีเยอรมันสัดส่วนอันดับหนึ่ง 16% สหรัฐอเมริกา 11% ฝรั่งเศส 10% สหราชอาณาจักร 7% และอิตาลี 7% ของยอดขายทั่วโลก

ทว่า..ลาร์ส สเวนส์สัน รองผู้จัดการคลังสินค้า อิเกีย ไทยแลนด์ ถ่อมตัวว่า แบรนด์อิเกียจะขอเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับลูกค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน และหวังว่าการมาของอิเกียจะช่วยสร้างสีสันให้กับตลาดนี้ให้คึกคักมากขึ้น

ที่สำคัญจะช่วยพัฒนาความสนใจของผู้บริโภคคนไทย ให้มี "รสนิยม" ในการตกแต่งบ้านอย่าง "กว้างขวาง" มากขึ้น

เขายังเชื่อว่าไทยตามลักษณะภูมิศาสตร์ไทยจะเป็น "ศูนย์กลาง" ตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่จีดีพีไทยก็เพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะที่ความกังวลในเรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไทยว่าจะไม่สอดคล้องกับโปรดักท์ของอิเกียนั้น เขาเชื่อว่า ไลฟ์สไตล์ของคนจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ โดยตลาดเฟอร์นิเจอร์ในเมืองใหญ่ของไทยเริ่มที่จะคล้ายคลึงกับวิถีชีวิตของคนในสหรัฐฯและยุโรป ที่มีพื้นที่จำกัด เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้จึงต้องเหมาะแก่การใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชีวิตของคนเมือง ซึ่งถือเป็นคอนเซปต์ของแบรนด์อิเกีย

"การไปเปิดช็อปในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้รู้ถึงความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคทั่วไปว่าต้องการอะไร คนทั่วไปมองหา และวางแผนที่จะจัดสรรเงินให้คุ้มค่ามากที่สุด นอกจากตกแต่งบ้านแล้วยังต้องเก็บเงินไว้เพื่อให้ลูกไปเรียนหนังสือ ซื้อคอมพิวเตอร์ หรือไปทำอย่างอื่น ไม่ต่างกันกับคนในนิวยอร์ก คนเมืองในไทยก็เช่นกัน"

ลาร์ส ยังบอกถึงวิธีการทำตลาดของอิเกียในไทยว่าไม่ต่างจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ คือเน้นที่สินค้ามีคุณภาพ จำนวนมาก ในราคาที่ต่ำที่ผู้บริโภคซื้อได้ เช่นเดียวกับแนวคิดของประเทศในแถบตะวันตก ที่ต้องการสินค้าสไตล์ทันสมัย

"เราจะเน้นเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก (Mass Market) ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราสามารถบริหารจัดการด้านราคาอย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับทุกประเทศที่เราไป และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสินค้าที่สะดวกในการใช้สอยบนพื้นที่จำกัด ให้คนมีความสุขในการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น"

เขายังบอกว่า อิเกียยังต้องการให้ไทยเป็นแหล่งจัดหาสินค้า (Sourcing) กลุ่มสินค้างานหัตถกรรม (Hand made) และผลิตภัณฑ์จากไม้ จากศักยภาพการผลิตของไทยในหลายพื้นที่ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทย ก่อนจะกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ

from http://bit.ly/fa1xBZ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)