โลกลับของหนูดี โดย หนูดี วานิษา เรซ
โลกใบนี้เป็นโลกลับๆ ที่เวลาเดินเข้ามาแล้วเหมือนกับดินแดนมหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย
ใลกใบนี้ คือโลกแห่งหนังสือค่ะ
ช่วงปิดเทอมเป็นช่วงเวลาพิเศษของหนูดี แม้จะเรียนจบมาหลายปีแล้วและไม่มีสิ่งที่สามารถเรียกอย่างเต็มปากได้ว่า “ปิดเทอม” อีกต่อไป เพราะคนทำงานก็ต้องทำงานทั้งปี แต่ปิดเทอมก็เป็นเวลาพิเศษเสมอเพราะว่าเรามีงานสัปดาห์หนังสือ และมีเวลานั่งลงอ่านหนังสือเล่นได้เป็นวันๆ
ตั้งแต่เด็กจนโตบ้านหนูดีมีกฎจำง่ายสองข้อเกี่ยวกับทรัพยากรคือ สิ่งที่ไม่ต้องประหยัดในบ้านมีอาหารกับหนังสือ ขอให้กินให้หมดและอ่านให้หมดเท่านั้น แล้วจะขอเท่าไรก็ได้ กฎนี้ก็ไม่ได้ทำให้หนูดีและน้องกลายเป็นเด็กฟุ่มเฟือย แต่กลับทำให้เรารู้สึกอิ่ม เต็ม และกลายเป็นเด็กที่ติดหนังสือที่สุด เราไม่เคยรู้สึกอดอยาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำหรับร่างกายหรืออาหารสำหรับความคิดสร้างสรรค์
บ้านของเราไม่ดูโทรทัศน์ เพราะถึงแม้จะมีเครื่องรับโทรทัศน์ตั้งอยู่ แต่ด้วยความเคยชินตั้งแต่วัยเด็กก็ทำให้เราไม่เคยเปิดโทรทัศน์ดูเลยในช่วง เย็นเวลากลับถึงบ้าน ดังนั้น สิ่งที่เข้ามาทดแทนเสียงโทรทัศน์ในบ้านนี้คือ เสียงพลิกหน้าหนังสือและเสียงพูดคุยกัน
หนูดีไม่ได้ต่อต้านวงการโทรทัศน์เพราะหนูดีก็เป็นพิธีกรเองด้วย แต่สำหรับนาทีที่เดินเข้าบ้านแล้ว หนูดีคิด ว่า การไม่เปิดโทรทัศน์ทำให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดกันและทำให้เราได้ทำกิจกรรมอื่น ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มากมาย ทำให้ความรักในครอบครัวเบ่งบานได้อย่างนึกไม่ถึง
จำได้ว่า วันหนึ่งตอนอายุประมาณสิบขวบ แม่ส่งหนังสือนิยายให้เล่มหนึ่งชื่อ “วิมานมะพร้าว” นางเอกนอกแนวทอมๆ จบวิศวะ และมีอาชีพเป็นช่างซ่อมบำรุง ซึ่งเท่มากในสายตาเด็กประถมแบบหนูดี และมีตัวเดินเรื่องเป็นวิญญาณปู่ของพระเอก
หนังสือเล่มนั้น ส่งผลให้หนูดีเริ่มติดนิยายแบบเอาจริงเอาจัง ทำให้ฝันอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็กทั้งที่ไม่รู้เลยว่าจะเขียนอะไร และทำให้หนูดีเริ่มสะสมงานเขียนของ “แก้วเก้า” และ “ว.วินิจฉัยกุล” ซึ่งเป็นคนผู้ประพันธ์ ทุกเล่มตั้งแต่วันนั้น
ทุกครั้งที่หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา ใจหนูดีจะเต้น รอไม่ไหวที่จะได้เปิดอ่าน และทุกครั้งที่กลับจากสัปดาห์หนังสือในสมัยเด็ก หนูดีก็จะเก็บตัวอยู่กับบ้านไม่ออกไปไหนเลยเกือบสัปดาห์ ตื่นเช้าขึ้นมาก็อ่านหนังสือ กินอาหาร กินขนม ไม่พูดไม่จากับใครเป็นวันๆ ในช่วงปิดเทอม หลงหายเข้าไปอยู่ในโลกของนิยายแต่ละเรื่อง ตัวละครแต่ละตัว ที่พาเราเข้าไปในสถานที่ที่หลายครั้งเกินกว่าเราจะจินตนาการไปถึงได้
หนูดีอ่าน “ปลายเทียน” ที่เป็นเรื่องของตัวเอกสมมติ “สร้อยสุมาลี” ที่เป็นพี่น้องกับ “สร้อยฟ้า” ในเรื่องขุนช้างขุนแผนแล้วหนีออกมาในโลกยุคปัจจุบัน ตื่นเต้นไปกับถ้อยคำภาษาที่ตัวละครพูดกันเป็นกลอนโบราณ และอ่าน “พิมมาลา” ที่นางเอกเป็นผู้ชายเจ้าชู้ที่ถูกสาปให้กลายเป็นสาวแสนสวยจนกว่าจะกลับใจได้ เป็นนิยายที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “อิลราชคำฉันท์”
จากนั้นหนูดีได้ อ่าน “สูตรเสน่หา” ที่นางเอกเป็นนักแสดงสาวสวยเอาแต่ใจที่อยากเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร และพระเอกเป็นเชฟ และอ่าน “จงกลกิ่งเทียน” ที่เป็นเรื่องของนางเอกลูกคนรวยใจดีที่ถูกสามีฆ่าตายเพราะหวังสมบัติ แล้วบังเอิญวิญญาณได้ไปเข้าร่างของเจ้านางทางเหนือ เธอเลยได้มีชีวิตใหม่อีกครั้งเพื่อกลับมาทวงความยุติธรรม
เรื่องนี้อ่านแล้วหวาดเสียวแทนตัวร้ายของเรื่อง “อัพภันตร์” ที่ร้ายจริงๆ และกรรมก็ตามสนองแบบเห็นทันตาไม่ต้องรอชาติหน้า แถมด้วย “ลมพัดผ่านดาว” นิยายเล่มโปรดล่าสุด ที่มีหนึ่งนางเอกและสองพระเอกที่แตกต่างกันสุดขั้ว ในเล่มหนึ่งนางเอกเลือกแต่งงานกับคนหนึ่ง แต่ไม่ถูกใจคนอ่าน ผู้เขียนจึงแต่งต่อมาอีกสองเล่มเพื่อสมมติให้เห็นว่า หากนางเอกเลือกแต่งงานกับเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สองแล้ว ชีวิตจะแตกต่างกันเช่นไร
โลกแห่งหนังสือนี้ หากใครได้ลองหลุดเข้าไปแล้วจะพบว่า เสพติดกันได้งอมแงมยิ่งกว่ายาเสพติด ตัวหนูดีนั้นเป็นคนไม่ชอบชอปปิ้ง แต่ลงได้เข้าร้านหนังสือเมื่อไรก็หายไปได้เป็นชั่วโมงๆ ในโลกนี้มีคนเหงามากมาย แต่ในโลกลับของคนชอบอ่านหนังสือ หนูดียังไม่เคยเห็นใครเหงาได้ในโลกนี้ เพราะเรามีเพื่อนทางความคิดแบบไม่จำกัดจำนวน ยิ่งอ่าน ยิ่งได้คิด ยิ่งอ่าน ยิ่งสร้างสรรค์
โลกลับเล็กๆ นี้ หนูดียินดีแบ่งปันกับเพื่อนนักอ่านจำนวนมาก ที่เราเจอกันเป็นประจำทุกปีในงานสัปดาห์หนังสือ และในปีนี้ หนูดีจะ ไปแจกลายเซ็นที่ศูนย์สิริกิติ์เช่นเคย ในวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคมที่บูทอัมรินทร์ และวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคมที่บูทซีเอ็ด 2552 ในช่วงบ่ายค่ะ
ปีนี้ได้เวลาไปเลือกหาหนังสือถูกใจเพื่อกลับไปนอนอ่านเล่นที่บ้านกันแล้ว และพบกันที่งานค่ะ
from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20091013/80958/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%B5.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น