13 พฤศจิกายน 2558

หนังสือเล่มเล็ก



ชีวิตประจำวันหรือ “งานประจำ” ของผมทุกวันนี้ไม่ใช่การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์และสั่งซื้อขายหุ้น ไม่ใช่การเฝ้าติดตามราคาหุ้นรายนาทีหรือรายชั่วโมง เพราะปกติผมจะซื้อหรือขายหุ้นปีละไม่กี่ครั้งและครั้งละไม่กี่วัน ผมคำนวณคร่าว ๆ แล้วหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อมาจะถูกถือไว้โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 5 ปี ดังนั้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นของผมจะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของผม สำหรับโบรกเกอร์แล้ว ผมน่าจะเป็น “ลูกค้ารายย่อย--ขนาดใหญ่” แม้ว่าช่วงที่มีการซื้อขายแต่ละครั้งอาจจะมีปริมาณมาก การซื้อขายหุ้นของผมจึงไม่ใช่ “งานลงทุน” แต่เป็นงานเล็ก ๆ ที่ต้องทำเป็นบางครั้งเมื่อผมเจอหุ้นที่จะซื้อหรือขาย

การ “ติดตามหุ้น” นั้น สิ่งที่ “ไม่สำคัญ” แต่ผมก็ทำตลอดเวลาก็คือการดูจอราคาหุ้นเป็นระยะเมื่อนั่ง “ทำงาน” ที่บ้านซึ่งก็คือ “สำนักงาน” ของผม การดูราคาหุ้นนั้น ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องของ “สัญชาติญาณ” ของคนที่น่าจะ “อดไม่ได้” ที่จะต้องเฝ้าดู “ทรัพย์สมบัติ” ของตนถ้ามัน “กอง” อยู่ตรงหน้า หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือการที่คนชอบ “ลุ้น” ว่าตนเอง “ได้หรือเสีย” บน “จอคอมพิวเตอร์” ขณะที่ผมนั่งทำงานอื่นอยู่ที่โต๊ะ แต่ในกรณีที่ผมต้องออกไปทำงานหรือมีกิจธุระนอกบ้าน ผมก็ไม่จำเป็นต้องติดตามราคาหุ้น พูดอย่างสรุปก็คือ ผมไม่ได้ใช้เวลากับการดูราคาหุ้นเป็นเรื่องเป็นราว ผมจะ “จับตาดู” หุ้นบางตัวในบางช่วงเวลาเพื่อมองหา “โอกาส” ในการที่จะซื้อหรือขายเท่านั้น

การติดตามหุ้นที่สำคัญของผมนั้น คือการติดตามการดำเนินงานและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ผมลงทุนอยู่และบริษัทอื่นที่ผมสนใจแต่ยังไม่ได้ลงทุน การติดตามการดำเนินงานนั้น ผมใช้วิธีการอ่านจากหนังสือ หนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ รวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ตและทางทีวีที่ผมพบเจอโดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนั้น ผมก็ยังติดตามบริษัทจากการไป “จ่ายตลาด” ซื้ออาหารและของใช้ประจำวันที่ผมทำเป็นประจำเกือบทุกสัปดาห์รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ผมทำเป็นระยะ ดังนั้น นี่ก็ไม่ใช่งานที่ผมต้อง “ใช้เวลา” เป็นเรื่องเป็นราว ส่วนการติดตาม “ผลการดำเนินงาน” ที่เป็นตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทนั้น ผมก็ใช้เวลาเพียงปีละ 4 ครั้ง คือในช่วงที่มีการประกาศผลประกอบการรายไตรมาศและรายปี

การเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะบริษัทใหม่ ๆ ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดนั้น ผมโชคดีที่ว่าผมทำรายการทีวีที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ทุกสัปดาห์ผมจะได้คุยและซักถามผู้บริหารประมาณ 2-3 บริษัท ดังนั้น ผมก็จะได้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทจำนวนมากเนื่องจากผมทำรายการนั้นมาหลายปีแล้ว บริษัทหลายแห่งนั้นผมเคยพูดคุยด้วยหลายครั้งและนั่นก็พอเพียงที่ผมจะใช้เป็นฐานหลักของการวิเคราะห์หุ้นรายตัว ผมคิดว่าผมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปพบบริษัทเพื่อที่จะศึกษาตัวบริษัทมากนัก ดังนั้น ผมไม่ไปงานOpportunity Day หรือไปคุยกับผู้บริหารบริษัทก่อนที่จะพิจารณาซื้อหุ้น มีบางบริษัทที่ผมถือหุ้นจำนวนมากที่ผมอาจจะไปเยี่ยมเยียนติดตามการดำเนินงานอยู่บ้างเหมือนกันแต่นั่นเป็น “ข้อยกเว้น” ไม่ใช่เรื่องปกติ

การไปพบผู้บริหารหรือผู้ให้ข้อมูลที่เรียกว่า IR ของบริษัทเป็นการ “ส่วนตัว” นั้น ข้อดีก็คือ บางครั้งเราอาจจะได้ข้อมูลลึก ๆ หรือความเข้าใจในสถานการณ์ที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เป็น “เรื่องดี ๆ” ของบริษัท เช่นเดียวกับเรื่องที่ “ไม่ดี” ที่เราอาจจะเห็นหรือรู้สึกได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราสามารถ “ฉกฉวยโอกาส” ในการซื้อหรือขายหุ้นและทำกำไรหรือลดการขาดทุนได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นก็อาจจะทำให้เข้าใจในตัวบริษัทมากขึ้นซึ่งทั้งสองเรื่องนั้น สำหรับVI หลายคนแล้วก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวด สำหรับบางคนแล้วเขาแทบจะบอกว่าถ้าไม่เจอผู้บริหารเขาก็จะไม่ซื้อหุ้นเลย อย่างไรก็ตาม การไปพบบริษัทแบบนั้นก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันในความเห็นของผมนั่นก็คือ การไปพบผู้บริหารอาจจะทำให้เราถูก “ชักนำ” ให้เกิด “ความลำเอียง” ว่าบริษัทมีคุณสมบัติดีกว่าที่ควรจะเป็นและ/หรือเชื่อว่าบริษัทจะสามารถเติบโตได้รวดเร็วต่อเนื่องด้วยความสามารถของบริษัทและผู้บริหารทั้ง ๆ ที่ข้อมูลผลประกอบการของกิจการที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้บอกอย่างนั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เราอาจจะถูกชักนำให้ “เชื่อในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์” สำหรับผมเองที่เน้นการลงทุนระยะยาวที่ต้องอิงอยู่กับ “พื้นฐานระยะยาว” ของบริษัทเป็นหลักนั้น หุ้นที่จะเข้าข่ายควรจะต้องได้รับการ “พิสูจน์ด้วยตัวเลขผลประกอบการ” มาพอสมควรแล้วว่าเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม ความจำเป็นต้องพบผู้บริหารมีน้อย

งานหลักที่สำคัญและใช้เวลามากของผมจริง ๆ ในทุกวันนี้น่าจะอยู่ที่การอ่านหนังสือที่เป็น “ความรู้ที่หลากหลาย” และต้องเป็น “ความรู้ที่แท้จริง” นั่นก็คือ เป็นความรู้ที่ได้รับการศึกษาและพิสูจน์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ความรู้ที่ผมสนใจศึกษานั้นรวมถึงเรื่องของจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและการเมือง สงครามและการแข่งขัน เรื่องของการเงินและการแข่งขันทางธุรกิจ ความรู้เกี่ยวกับสถิติและความน่าจะเป็น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก เป็นต้น เมื่ออ่านและเข้าใจหัวใจหรือข้อสรุปของความรู้นั้นแล้ว ผมก็จะพยายาม “เชื่อมโยง” ความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมทำนั้นจะเป็นแนวทางที่ ชาร์ลี มังเกอร์ คู่หูและหุ้นส่วนของบัฟเฟตต์ทำหรือไม่ แต่ที่ได้ทำมานานผมรู้สึกว่าผมมีความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ของโลกมากขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลมากขึ้น และนี่อาจจะช่วยให้ผมสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้นอย่างที่มังเกอร์บอก

การอ่านหนังสือเพื่อทำความเข้าใจกับความรู้ ทฤษฎี ประวัติศาสตร์และเรื่องราวมากมายของโลก อาทิเช่น เรื่องของตลาดเสรีและระบบทุนนิยมที่บุกเบิกโดย อาดัม สมิทธิ ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งของ ชาร์ล ดาร์วิน สงครามและการแข่งขันระหว่างประเทศที่ฉายภาพโดดเด่นจากสงครามใหญ่โดยเฉพาะสงครามโลกทั้งสองครั้ง การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แนวทางแบบ Value Investment ของเบน เกรแฮมและการเกิดขึ้นของทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มนักวิชาการนำโดย ยูจีน ฟามา มาร์โควิทซ์และชาร์ป ทฤษฎีการแข่งขันทางธุรกิจโดยเฉพาะในด้านของการกำหนดกลยุทธ์ที่นำเสนอโดย Aries กับ Jack Trout ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของโลกและไทย และการขึ้นลงและวิกฤติตลาดหุ้นทั่วโลก เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลามากมายโดยเฉพาะถ้าเราต้องเริ่มต้นจากศูนย์เนื่องจากเราไม่ได้เรียนมาเลยจากห้องเรียนหรือ “ติดลบ” เนื่องจากเราเรียนมาด้วยข้อมูลหรือทฤษฎีที่ผิด

ด้วยปริมาณข้อมูลและความรู้มากมายที่อาจจะมีประโยชน์มหาศาลในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะอ่านหรือศึกษาได้หมดในเวลาอันสั้น และสำหรับคนที่ยังมีภารกิจงานประจำที่ต้องทำตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ผมคิดว่าเขาคงมีเวลาไม่พอ ส่วนตัวผมเองนั้นก็ต้องยอมรับว่าความรู้หลากหลายเหล่านั้น ส่วนใหญ่ผมได้มาหลังจากที่เลิกทำงานประจำมาเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว นอกจากนั้น ผมได้ค้นพบว่า วิธีที่จะเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ พยายามอ่าน “หนังสือเล่มเล็ก” ที่อธิบายหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งระยะหลัง ๆ ผมได้เห็นว่ามีออกมามากขึ้น หนังสือเล่มเล็กนั้นมีข้อดีคือมันช่วยสรุป “หัวใจ” ของเรื่องต่าง ๆ เอาเฉพาะ“แก่น” หรือ “พื้นฐาน” ของเรื่องโดยไม่สนใจรายละเอียดที่บางครั้งทำให้เรา “หลงทาง” หรือสับสน “หนังสือเล่มเล็ก” ในความหมายของผมนั้นอาจจะรวมถึงหนังสือ “การ์ตูน” สั้น ๆ หรือภาพยนตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวที่เป็น “ภาพใหญ่” ได้ในเวลาอันสั้น และนี่ก็คือเทคนิคการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ผมอยากให้ทดลองดู มันอาจจะส่งผลกระทบให้เราได้อย่างมหาศาลกับการลงทุน—และชีวิต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)